แท็บ — ย้ายแกดเจ็ตไว้ข้างใต้ส่วนหัว

รายวิชา ประวัติศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

๑.๔.๒ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี

๑.๔.๒ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี 

            ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาในปีพ.ศ.๒๓๑๐ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมืองและการปกครองของไทยได้ย้ายลงมาตั้งที่เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรหรือเมืองบางกอกภายใต้การนำของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี(สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ พระเจ้าตากสิน พ.ศ.๒๓๑๐–๒๓๒๕)
หลักฐานที่ใช้ในการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี ประกอบด้วยพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ อาทิ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี(ฉบับพันจันทนุมาศ) จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องปฐมวงศ์ จดหมายเหตุสมัยราชวงศ์ชิง(ชิงสือลู่) ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พงศาวดารโยนก บันทึกของบาทหลวงเดอ โลเนชาวฝรั่งเศส และหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษหรือโครงกระดูกในตู้ เป็นต้น ส่วนงานวิจัยประวัติศาสตร์สมัยธนบรีที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคือ หนังสือเรื่อง การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ ซึ่งมุ่งอธิบายพัฒนาการทางการเมืองเป็นหลัก แต่ก็ได้กล่าวถึงสภาพเรื่องราวทางเศรษฐกิจและสังคมในสมัยนี้ด้วย

            กรุงธนบุรีมีบทบาทต่อประวัติศาสตร์ไทยในฐานะราชธานีเป็นระยะเวลาเพียง ๑๕ ปี ความสำคัญดังกล่าวก็สิ้นสุดลง หลักฐานเอกสารระบุว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมี “พระสติวิปลาส” ขุนนางและอาณาประชาราษฎร์จึงพร้อมใจกันอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก นายทหารคนสำคัญซึ่งได้รับการยอมรับจากขุนนางข้าราชการและราษฎร ขึ้นปราบดาภิเษกเสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในปีพ.ศ.๒๓๒๕

            การศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยธนบุรีอันเป็นจุดเปลี่ยนผ่านทางการเมือง การปกครอง สังคมและวัฒนธรรมช่วงสั้นๆของสังคมไทยในอดีต จะช่วยให้สามารถทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ของการสืบทอดเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ สังคมและศิลปวัฒนธรรมสมัย รัตนโกสินทร์ได้มากยิ่งขึ้น

๑) สภาพที่ตั้ง

๑) สภาพที่ตั้ง
            ในพ.ศ.๒๓๑๐ ระหว่างที่กรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่าปิดล้อมจวนจะเสียกรุง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขณะทรงดำรงพระยศเป็นที่พระยากำแพงเพชรทรงนำไพร่พลไทย จีนและคนเชื้อสาย โปรตุเกสรวมประมาณ ๕๐๐ คนเศษตีฝ่าแนวปิดล้อมของกองทัพพม่าออกไปทางตะวันออก[66] เพื่อรวบรวมกำลังไพร่พลแถบหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกต่อสู้ขับไล่พม่าออกไปจากพระราชอาณาจักรสยาม พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกว่า เมื่อเสด็จฯถึงเขตเมืองระยองแล้ว พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสยังบรรดานายทัพและรี้พลว่า

            “…กรุงเทพมหานครงจะเสียแก่พม่าเป็นแน่แท้ ตัวเราคิดจะซ่องสุมประชาราษฎรในแขวงหัวเมืองตะวันออกทั้งปวงให้ได้มากแล้ว จะยกกลับเข้าไปกู้กรุงให้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจักทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎรซึ่งอนาถาหาที่พำนักมิได้ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข และจะยอยกพระบวรพุทธศาสนาให้โชตนาการไพบูลย์ขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้น ให้คนให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย ท่านทั้งหลายจะเห็นประการใด นายทหารและไพร่พลทั้งปวงก็เห็นชอบด้วยพร้อมกัน จึงยกพระยากำแพงเพชรขึ้นเป็นเจ้าเรียกว่าเจ้าตากตามนามเดิม…”[67]

            หลังเสียกรุงศรีอยุธยา ราชธานีมีสภาพทรุดโทรม เต็มไปด้วยซากศพ ผู้คนอดอยากและคนโทษจำนวนมาก ภาพที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นทำให้ทรงสลดพระทัยและมีพระราชประสงค์จะเสด็จฯไปประทับยังเมืองจันทบูรณ์ แต่อาณาประชาราษฎรและสมณชีพราหม์ได้ร่วมกับกราบบังคมทูลฯให้เสด็จฯประทับ ณ พระตำหนักเมืองธนบุรี[68]

            นักวิชาการอธิบายว่า การที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานี อาจประกอบด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ [69]

            ๑.กรุงธนบุรีเป็นเมืองหน้าด่านที่ควบคุมเส้นทางการเดินเรือในอ่าวไทย สามารถควบคุมการค้าและยุทธปัจจัยจากภายนอกเข่าสู่ภายในพระราชอาณาจักรได้เป็นอย่างดี
            ๒.กรุงธนบุรีมีป้อมปราการสองฟากแม่น้ำ ได้แก่ ป้อมวิไชยประสิทธิ์และป้อมวิไชเยนทร์ ซึ่งจะเกื้อหนุนต่อการป้องกันพระนคร
            ๓.กรุงธนบุรีมีที่ตั้งเหมาะสมเอื้อต่อการล่าถอยไปยังหัวเมืองตะวันออกได้ในเวลาอันรวดเร็ว
            ๔.ทำเลที่ตั้งของกรุงธนบุรีมีความเหมาะสมต่อการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ
            ๕.กำแพงป้อมวิไชยประสิทธิ์อันเป็นที่ตั้งพระราชวังแม้จะมีพื้นที่เพียง ๑ ตารางกิโลเมตร แต่ก็มีความแข็งแรงเหมาะต่อการเข้าไปปรับปรุงเป็นที่ประทับ และแม้ว่าจะทรงมีพระราชดำริในการสร้างพระตำหนักที่ประทับใหม่ภายในป้อมวิไชยเยนทร์ทางฝั่งตะวันออกแล้วก็ตาม

            สภาพที่ตั้งของกรุงธนบุรีมีลักษณะชัยภูมิแบบที่เรียกว่า “เมืองอกแตก” คือมีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง ศูนย์กลางของตังเมืองแม้จะตั้งอยู่ภายในพระราชวังเดิมปากคลองบางหลวง(คลองบางกอกใหญ่)ฝั่งตะวันตก แต่อาณาเขตของตัวเมืองครอบคลุมทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในปีพ.ศ.๒๓๑๖สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯให้เกณฑ์ราษฎรขุดคูก่อกำแพงเมืองทางฝั่งตะวันตกตามแนวคลองวัดวิเศษการไปออกคลองบางหลวง ส่วนทางฝั่งตะวันออกโปรดฯให้ขุดคูเมืองตั้งแต่บริเวณปากคลองโรงไหมใต้สะพานพระปิ่นเกล้าไปตามแนวซึ่งเรียกว่า “คลองหลอด” ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาดในปัจจุบัน

๒) การปกครอง

๒) การปกครอง
            เมื่อขับไล่พม่าออกไปจากเมืองธนบุรีและสถาปนาศูนย์อำนาจแห่งใหม่ขึ้นมาแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินได้เสด็จฯออกปราบปรามชุมนุมต่างๆที่ตั้งตนเป็นอิสระหลังการสลายตัวของกรุงศรีอยุธยารวมเป็นเวลา ๓ ปี เพื่อสถาปนาความมั่นคงทางการเมืองของราชธานี

            กลยุทธ์ที่ทรงใช้ในการรวบรวมความเป็นปึกแผ่นของพระราชอาณาจักร คือทรงเน้นทั้งวินัยทหารที่ประกอบไปด้วยความเด็ดขาดและการรอมชอมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและการปกครอง ดังปรากฏในปีพ.ศ.๒๓๑๑ เมื่อทรงปราบชุมนุมเจ้าพิมาย(กรมหมื่นเทพพิพิธ พระโอรสสมเด็จพระบรมราชาที่๓ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)ได้ก็โปรดฯให้ประหารชีวิตเสีย แต่ครั้นปราบชุมนุมเจ้าพระยานครศรีธรรมราชสำเร็จในปลายปี พ.ศ.๒๓๑๒ กลับทรงใช้วิธีการผูกน้ำใจเนื่องจากทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า “เจ้านครมิได้เป็นขบถประทุษร้าย เป็นแต่ตั้งตัวในเวลาบ้านเมืองเป็นจลาจล จึงโปรดให้เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี และให้เจ้านราสุริยวงศ์หลานเธอออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช และทรงสถาปนาให้เป็นเจ้าประเทศราช”[70]

            แม้ในปีพ.ศ.๒๓๑๑ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะไม่ทรงประสบความสำเร็จในการปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก แต่สามารถปราบปรามพระตะบอง เสียมราฐและเขมรฝ่ายนอกได้ภายในปีเดียวกัน ต่อมาในปีพ.ศ.๒๓๑๓ ทรงปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลกและชุมนุมเจ้าพระฝางได้ตามลำดับ ถือเป็นการรวบรวมและฟื้นฟูอาณาเขตของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้อีกครั้ง [71] ยุทธศาสตร์สำคัญที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงนำมาใช้ในการสงครามคือ การยกทัพออกไปรับศึกที่ชายแดนแทนการตั้งรับศึกในราชธานีดังที่เคยใช้ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์เมื่อครั้งกรุงเก่า การออกไปรับศึกนอกราชธานีมีผลดีคือ ทำให้บ้านเมืองและราษฎรไม่บอบช้ำจากการสงคราม

            ในด้านการปกครองนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงอาศัยขุนนางผู้ใหญ่ผู้เคยรับราชการสมัยอยุธยาเป็นผู้ถ่ายทอดแบบแผนการปกครองบ้านเมือง ในสมัยกรุงธนบุรี พระมหากษัตริย์ยังทรงเป็นผู้มีพระราชอำนาจสูงสุดในฐานะพระประมุขและผู้ปกครองบ้านเมืองให้มีความสงบสุขภายใต้ทศพิธราชธรรมและแนวคิดจักรพรรดิราช ในรัชสมัยนี้การปกครองแบบจตุสดมภ์ถูกนำมาใช้อีก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคด้วยการทรงแต่งตั้งนายทหารคนสนิทหรือเจ้าเมืองเดิมออกไปปกครองหัวเมืองใหญ ส่วนเมืองเล็กซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปทรงมอบหมายให้หัวเมืองใหญ่ดูแลต่างพระเนตรพระกรรณอีกชั้นหนึ่ง อาทิ เมืองนครราชสีมาดูแลหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมืองนครศรีธรรมราชดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ เมืองพิษณุโลกดูแลหัวมืองฝ่ายเหนือและเมืองจันทบูรณ์ดูแลหัวเมืองฝ่ายตะวันออก [72]

            การฟื้นฟูอำนาจทางการเมืองของราชสำนักกรุงธนบุรีประการสำคัญ คือ การขยายพระราชอำนาจไปยังหัวเมืองล้านนา ในปีพ.ศ.๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จฯยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่เพื่อขจัดอิทธิพลของพม่า โดยความร่วมมือของพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละ จากนั้นทรงแต่งตั้งพระยาจ่าบ้านเป็นเจ้าประเทศราชเมืองเชียงใหม่และพระยากาวิละเป็นเจ้าประเทศราชเมืองลำปาง ต่อมาเมืองลำพูน เมืองแพร่ และเมืองน่านก็เข้าสวามิภักดิ์ด้วย[73] นอกจากนี้เวียงจันทร์ หลวงพระบาง ปัตตานีและเคดะห์ ต่างก็ยอมรับในพระราชอำนาจของพระองค์เช่นเดียวกัน[74]บุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการสร้างพระราชอำนาจของสมเด็จพระเจ้าตากสินคือ เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์จักรีในเวลาต่อมา

            เดวิด เค. วายแอตต์อธิบายว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงประสบความสำเร็จในฐานะนักรบมากกว่านักปกครอง หลักฐานของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสในระบุว่า เมื่อกองทัพสยามยกกลับกรุงธนบุรีในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๒๒ ภายในราชสำนักธนบุรีเริ่มมีความไม่ปกติเกิดขึ้น กล่าวคือ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสวดพระพุทธมนต์ ทรงงดพระกระยาหารและทรงบำเพ็ญวิปัสนาธุระ จากนั้นทรงประกาศว่าทรงมีอิทธิฤทธิ์สามารถเหาะขึ้นไปบนอากาศได้ พระองค์ยังทรงบังคับให้พระสงฆ์ยอมรับว่าทรงบรรลุโสดาบัน และหากพระเถระรูปใดไม่ยอมถวายบังคมพระองค์ท่านในฐานะเทพ ก็จะถูกโบย ถอดยศและต้องถูกเกณฑ์แรงงาน ทำให้ราษฎร ขุนนาง ข้าราชการหวั่นกลัว ส่งผลกระทบต่อพระราชอำนาจของราชสำนัก

            ตอนปลายรัชสมัยหลักฐานของบาทหลวงฝรั่งเศสบันทึกไว้ว่า นอกจากพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะส่งผลกระทบต่อขุนนางและข้าราชการแล้ว ยังสร้างความเดือดร้อนต่อพ่อค้าและชาวต่างชาติซึ่งตั้งถิ่นฐานในสยามด้วย ในปีพ.ศ.๒๓๒๔ พ่อค้าจีนต่างยกเลิกการค้าขาย เนื่องจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระอาการผิดปกติทางพระสติมากยิ่งขึ้น แม้แต่พระมเหสี พระโอรสและขุนนางระดับสูงก็ถูกโบย เพื่อให้รับสารภาพอย่างปราศจากความผิด นักวิชาการเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงทางลบที่เกิดขึ้นในตอนปลายรัชสมัยของพระองค์ อาจมีสาเหตุจากการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระราชฐานะพระมหากษัตริย์ที่สืบเชื้อสายมาจากสามัญชนลูกครึ่งจีน แม้จะทรงเคยได้รับการยอมรับจากอาณาประชาราษฎร์ภายหลังการกอบกู้พระราชอาณาจักร แต่เมื่อบ้านเมืองมีความมั่นคงแล้ว กลุ่มอำนาจเดิม อาทิ ตระกูลขุนนางซึ่งเคยเป็นชนชั้นปกครองมาหลายชั่วอายุคนรวมถึงขุนนางและพ่อค้า เริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องผลประโยชน์ดั้งเดิมที่เคยได้รับอย่างเงียบๆในช่วงที่พระราชจริยวัตรของสมเด็จพระเจ้าตากสินเปลี่ยนแปลงไป[75]

            ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ว่าในตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขุนนางแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่๑ ข้าหลวงเดิม หมายถึง ขุนนางที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงไว้วางพระทัยเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดและถวายตัวในระยะแรกๆ กลุ่มที่๒ ขุนนางผู้ใหญ่ซึ่งรับราชการมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีความรู้เรื่องพระราชพิธีและแบบแผนราชการ กลุ่มที่๓ กลุ่มข้าราชการทั่วไป [76] แต่มัลลิกา มัสอูดีอธิบายค่อนข้างชัดเจนกว่าว่า ขุนนางในราชสำนักสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแบ่งเป็น กลุ่มขุนนางที่สวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กลุ่มขุนนางที่สนับสนุนขบถพระยาสรรค์ และกลุ่มขุนนางที่สนับสนุนสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก[77]

            พระราชอาณาเขตในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแม้จะขยายไปมากกว่าสมัยอยุธยา แต่อำนาจส่วนใหญ่กลับเป็นของเจ้าประเทศราชทั้งในนครศรีธรรมราช ปัตตานี ล้านนา กัมพูชา เวียงจันทน์และหลวงพระบาง นอกจากนี้การที่ขุนนางต้นตระกูลบุนนาคก็ยังคงมีอิทธิพลในกรมพระคลังสินค้าร่วมกับขุนนางเชื้อสายจีนและพราหมณ์ในด้านเศรษฐกิจ และขุนนางเชื้อสายเก่าแก่ยังอาศัยชื่อเสียง เครือข่ายความชำนาญพิเศษและความได้เปรียบในการควบคุมกำลังคน เพื่อรักษาความมั่นคงของตำแหน่งและแสวงหาก้าวหน้าของตนด้วย ซึ่งล้วนเป็นเงื่อนไขที่ทำให้กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้เห็นพ้องใช้เป็นข้ออ้างในปีพ.ศ.๒๓๒๔ว่า เพื่อประโยชน์สุขของแผ่นดินสยามและความยั่งยืนของพระพุทธศาสนา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสมควรจะถูกถอดลงจากพระราชอำนาจ[78]

๓) โครงสร้างทางสังคมและการควบคุมกำลังคน

๓) โครงสร้างทางสังคมและการควบคุมกำลังคน
            สังคมสมัยกรุงธนบุรีเป็นสังคมที่มีความสับสนอันเกิดจากผกระทบของสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา ถึงกระนั้นโครงสร้างทางสังคมในสมัยธนบุรียังคงประกอบด้วยชนชั้นปกครองและชนชั้นซึ่งถูกปกครองเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา การควบคุมกำลังคนหรือระบบไพร่เป็นสิ่งสำคัญต่อการปกครองมาโดยตลอด เนื่องจากหากการควบคุมกำลังคนไม่มีประสิทธิภาพ การเรียกเกณฑ์ทัพเพื่อทำสงครามป้องกันตนเองก็จะด้อยประสิทธิภาพไปด้วย

            ในสมัยธนบุรี สถานการณ์ที่บ้านเมืองยังไม่สงบราบคาบ ทำให้มูลนายถือโอกาสนำไพร่หลวงหรือไพร่สมและทาสมาเป็นสมบัติส่วนตัว นอกจากนี้ไพร่อีกส่วนหนึ่งยังหนีไปอยู่ตามป่าเพื่อความปลอดภัยและเพื่อการหลุดพ้นจากพันธะทางสังคม สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงฟื้นฟูระบบไพร่ขึ้นมาใหม่ ด้วยการโปรดฯให้สักข้อมือหมายหมู่สังกัดของไพร่หลวงและไพร่สมทั้งในส่วนกลางและหัวเมือง แล้วให้ส่งบัญชีเป็นทะเบียนหางว่าวต่อกรมพระสุรัสวดี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการสักหมายหมู่ไพร่ทุกกรมกอง และมีการกำหนดโทษผู้ปลอมแปลงเหล็กสักหรือขโมยเหล็กสักของหลวงไปใช้ถึงขั้นประหารชีวิตทั้งโคตร[79]

            ในปีพ.ศ.๒๓๒๒ ช่วงปลายรัชสมัยเกิดกบฎไพร่ในเขตกรุงเก่า พระภิกษุชื่อมหาดาประกาศว่าจะ“รื้อการถ่ายน้ำ”หรือไขน้ำออกจากบึงบึงพระราม เพื่อเอาสมบัติในบึงออกมาบูรณะวัดพระราม มีการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์จนเป็นที่เลื่อมไขแก่เจ้าเมืองกรุงเก่า แม้แต่ผู้คนในกรุงธนบุรียังเกิดความศรัทธา ทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องส่งกองทหารขึ้นไปปราบ ชี้ให้เห็นว่าทั้งปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาการเมืองต่างก็ผูกพันกับระบบการควบคุมกำลังคน และกบฎที่เกิดขึ้นใกล้ราชธานีเป็นสิ่งที่สะท้อนให้ให้เห็นถึงความเปราะบางของการควบคุมกำลังคนในรัชสมัยนี้

            ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์เสนอว่า ปัญหาเช่นนี้มีรากฐานมาตั้งแต่เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสถาปนาราชธานีขึ้นใหม่ๆ พระองค์ทรงแต่งตั้งหัวหน้าชุมนุม หรือ “นายซ่อง” ที่ยอมอ่อนน้อมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาให้ยังคงปกครองผู้คนในสังกัดตนเองได้ต่อไป โดยอาศัยความจงรักภักดีที่หัวหน้าชุมนุมมีต่อพระองค์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์ แต่เมื่อจะต้องเกณฑ์คนเพื่อเข้าทัพ ทำงานโยธาหรือเรียกเกณฑ์ส่วยสินค้าป่าแล้ว ทางการจะต้องเรียกเกณฑ์จากหัวหน้าชุมนุม อันแสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจควบคุมกำลังคนจริงๆในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีคือหัวหน้าชุมนุมแต่เดิม

๔) เศรษฐกิจ

๔) เศรษฐกิจ
            การกวาดต้อนผู้คนกลับไปยังพม่าหลังสงครามในปีพ.ศ.๒๓๑๐ เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้กรุงธนบุรีขาดแคลนแรงงานผลิตจำนวนมาก ภาวะสงครามทำให้ไพร่หยุดการทำไร่ไถนาเป็นเวลาหลายปี จึงก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารตามมา การที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าสวามิภักดิ์ ทำให้ราษฎรเข้ามาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จึงเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพงและคนอดตายซ้ำเติม บาทหลวงชาวฝรั่งเศสบันทึกว่า “ค่าอาหารการรับประทานในเมืองแห่งนี้แพงอย่างที่สุด เวลานี้ข้าวสารขายกันทะนานละ ๒ เหรียญครึ่ง” สภาพปัญหาเช่นนี้จึงทำสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชปรารภว่า “บุคคลผู้ใดเป็นอาทิ คือ เทวดา บุคคลผู้มีฤทธิ์มาประสิทธิ์ มากระทำให้ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ขึ้นให้สัตว์โลกเป็นสุขได้ แม้ผู้นั้นจะปรารถนาพระพาหาแห่งเราข้างหนึ่ง ก็อาจตัดบริจาคให้ผู้นั้นได้”[80]

            ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ชี้ว่า สมัยธนบุรีสสยามเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เฉพาะเรื่องการผลิตข้าวให้พอกินตลอดทั้งปีก็ต้องใช้เวลาอยู่หลายปี ส่วนเรื่องการผลิตข้าวเพื่อส่งออกนั้น เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เลยเกือบตลอดรัชสมัย ยิ่งต้องทำสงครามเกือบทุกปีก็ยิ่งทำให้ทางการต้องสะสมข้าวในฉางหลวงไว้มาก ส่วนแรงงานที่ใช้ในการผลิตข้าวก็ต้องต้องลดน้อยลงเนื่องจากถูกเกณฑ์เข้ากองทัพ มิหนำซ้ำรายได้จากการอากรค่านาก็เก็บได้เพียง ๑ ใน ๓ ของพื้นที่เพาะปลูกในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากับพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น ความสามารถในการควบคุมกำลังคนยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รายได้จากสินค้าป่ามีปริมาณน้อยกว่าสมัยอยุธยาตอนปลาย พื้นที่เก็บอากรค่านาเพิ่งขยายไปถึงเมืองพิชัย สงขลา ตราดและโคราชในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง

            บาทหลวงฝรั่งเศสและนักเดินทางชาวเดนมาร์กบันทึกว่า พระราชทรัพย์ส่วนหนึ่งของแผ่นดินมาจากการประมูลสิทธิ์ในการขุดหาสมบัติที่ฝังไว้ในศาสนาสถานที่กรุงเก่า เงื่อนไขนี้เองทำให้นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่ามีส่วนทำให้เศรษฐกิจสมัยธนบุรีฟื้นตัว นอกจากนี้แม้การค้าสำเภากับจีนจะยังมิได้ดำเนินไปอย่างเป็นทางการจนกระทั่งถึงปีสุดท้ายในรัชกาล แต่ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทางการสยามและพ่อค้าจีนก็ยังคงมีอยู่ สิ่งที่ขาดหายไปคือสิทธิพิเศษของทางการสยามในการเว้นภาษีขาเข้าและออกจากการค้ากับราชสำนักจีนในการค้าแบบบรรณาการ[81] ผลที่ตามมาคือการขาดแคลนเงินสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าที่ต้องการ อาทิ ปืน ทำให้ทางการสยามต้องนำสินค้าประเภท ดีบุก งาช้างและไม้มาแลกอาวุธปืนแทน นอกจากนี้การขาดแคลนเงินและทรัพย์สินจากการค้ายังส่งผลกระทบต่อการพระราชทานเบี้ยหวัด เครื่องยศ การเสริมสร้างพระราชฐานะและพระราชอำนาจ ทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงระมัดระวังการรั่วไหลของเงินทอง อีกทั้งยังทรงลงโทษผู้กระทำการทุจริตอย่างรุนแรง ความระมัดระวังเช่นนี้จึงเป็นการขัดผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ตามปกติของขุนนางอีกทางหนึ่งเช่นกัน

            การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินคือ การสละพระราชทรัพย์ซื้อข้าวสารจากพ่อค้าต่างเมืองมาแจกจ่ายราษฎร และการสนับสนุนให้พ่อค้าต่างชาติเช่น ชาวจีน เข้ามาค้าขายในกรุงธนบุรีและทำไร่อ้อย ไร่พริกไทยตามหัวเมืองชายฝั่งตะวันออกและภาคใต้ ทำให้ภาวะขาดแคลนอาหารบรรเทาลง ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวคือ ในปีพ.ศ.๒๓๑๙ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯให้เจ้านายและขุนนางทำนาบริเวณนอกคูเมืองฟากตะวันออกของกรุงธนบุรี กระทุ่มแบน หนองบัวและแขวงเมืองนครชัยศรี รวมทั้งให้ทหาร ราษฎรและเชลยชาวลาวและเขมรทำการเพาะปลูกยามที่เว้นว่างจากราชการสงคราม[82]

๕) การติดต่อกับต่างประเทศ

๕) การติดต่อกับต่างประเทศ
            ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แม้การติดต่อเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศค่อนข้างเกิดขึ้นอย่างจำกัดและไม่คึกคักดังเช่นสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ทางการสยามก็พยายามส่งเสริมการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศให้เจริญรุ่งเรืองดังเช่นสมัยกรุงศรีอยุธยา จดหมายเหตุต่างชาติระบุว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงโปรดปรานการค้าอย่างมากและทรงเปิดโอกาสทางการค้าแก่สินค้าทุกชนิดจากเมืองจีน ทำให้มีชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานจำนวนมากทำให้กลายเป็นพ่อค้ากลุ่มสำคัญ ในปีพ.ศ.๒๓๑๗ และ พ.ศ.๒๓๑๙ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพยายามส่งพระราชสาส์นไปยังราชสำนักจีน เพื่อขอซื้อกำมะถันและกระทะเหล็กจากจีนแต่ไม่ได้รับการยอมรับจากราชสำนักจีน ในปีพ.ศ.๒๓๒๔เมื่อจักรพรรดิจีนทรงรับรองพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์สยามแล้ว พระองค์จึงได้ถวายเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งจักรพรรดิจีนทรงรับไว้เพียงช้าง ๑ เชือกและนอระมาดเท่านั้น ส่วนสิ่งของอื่นๆจักรพรรดิจีนทรงอนุญาตให้ราชทูตสยามนำไปขายที่เมืองกวางตุ้งได้โดยไม่เสียภาษี

            สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังทรงสนับสนุนให้ชาวจีนเป็นนายเรือเพื่อนำสินค้าไปขายในนามของพระมหากษัตริย์สยามพร้อมกับสินค้าส่วนตัว หลวงอภัยพานิชหรือจีนมั่วเสง เป็นนายเรือคนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ส่งสินค้าไปขายที่เมืองจีนปีละ ๑๕ ลำ โดยมีเรือสินค้าของตนร่วมเดินทางไปปีละ ๒ ลำ [83]

สามกรุงศรี

กรุงศรีอยุธยา

กรุงธนบุรี

กรุงรัตนโกสินทร์

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สรุปพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ไทย

สรุป

            จากที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นจะเห็นว่า ดินแดนในประเทศมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมยาวนานตั้งแต่สมัยหินเก่า สมัยหินกลาง สมัยหินใหม่และสมัยโลหะของยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งมีอายุสมัยอยู่ในช่วงตั้งแต่ประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓-๕ อันเป็นช่วงที่มีหลักฐานเอกสารกล่าวถึงการเดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาพุทธในดินแดนประเทศไทย

            ในระยะต่อมาดินแดนในประเทศไทยมีพัฒนาการอยู่ในสมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ยุคเริ่มแรก อันมีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการได้รับอิทธิพลความเชื่อทางศาสนาจากอินเดียเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่๗–๑๕ จากนั้นจึงเริ่มมีหลักฐานพัฒนาการของชนชาติไทยเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่๑๖–๑๗ เป็นต้นมา ก่อนที่จะปรากฏหลักฐานการก่อตัวของชุมชนที่มีชาวไทยเป็นผู้ปกครองสืบเนื่องมาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่๑๘ จนถึงปัจจุบัน

            เมื่อประมาณ ๒๐ ปีเศษมาแล้ว ตำราทางประวัติศาสตร์มักอธิบายว่า ก่อนสมัยอารยธรรมยุคเริ่มแรกซึ่งเป็นยุคก่อนที่จะมีการติดต่อกับอินเดียและจีน ดินแดนในประเทศไทยยังไม่มีความเจริญทางศิลปวิทยาการและเทคโนโลยี แต่หลักฐานโบราณวัตถุสำริดจากการขุดค้นทางโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางตอนล่างตั้งแต่กลางทศวรรษ ๒๕๑๐ เป็นต้นมา บ่งชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการหลอมทองแดงและการผลิตโลหะสำริด รวมถึงการแพร่กระจายของเครื่องมือเหล็กและอื่นๆในดินแดนประเทศไทยตั้งแต่ประมาณ ๓,๗๐๐-๑,๙๐๐ ปีมาแล้ว ทำให้นักวิชาการปรับเปลี่ยนมโนทัศน์ในการอธิบายพัฒนาการทางวัฒนธรรมในดินแดนประเทศไทยว่า ความเจริญทางวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้เป็นผลมาจากการบ่มเพาะสร้างสรรค์และถ่ายทอดทางภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นจากการประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการแก้ปัญหาในชีวิตของคนพื้นเมืองเป็นทุนดั้งเดิมทางวัฒนธรรม ก่อนที่จะมีการติดต่อกับชาวต่างชาติเป็นเวลานานแล้ว เมื่อผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับคนต่างถิ่น การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางความเปิดกว้างทางสังคมที่มีความอดกลั้นต่อความหลากหลายและความแตกต่างทางวัฒนธรรมจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

            การศึกษาวิวัฒนาการของประเทศไทยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยธนบุรี เพื่อศึกษารากฐานความเป็นมาของอารยธรรมไทย จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจและยอมรับความเป็นไปต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างมีสติ รวมทั้งมีความชื่นชมและภาคภูมิใจต่อการดำเนินชีวิตอย่างกลมกลืนในปัจจุบัน กระนั้นก็ตาม เนื้อหาที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ที่พยายามจุดประกายการเรียนรู้เรื่องไทยศึกษาทั้งเชิงลึกและกว้าง ซึ่งผู้สนใจจะสามารถค้นคว้าในระดับสูงได้จากบางส่วนของ

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

19 - สังคมวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์

 ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
การพัฒนาขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม
     หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475   มีการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดในเรื่องการแต่งกาย ผู้ชายเริ่มแต่งกายแบบสากล คือสวมเสื้อนอกกระดุมห้าเม็ด กางเกงขายาวแบบสากล   รองเท้าหุ้มส้นและสวมถุงเท้า ยกเลิกการนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนและเสื้อราชปะแตน
นโยบายสร้างชาติทางวัฒนธรรมของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม

     ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยหลายประการ คือ
           1. การเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ประเทศไทย” ในปี พ.ศ.2482
           2. ใช้คำว่า “ไทย” กับคนไทย และสัญชาติไทย
           3. กำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น “วันชาติไทย” เริ่มในปีพ.ศ.2482
           4. เปลี่ยนเนื้อร้องเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี ไม่ให้มีคำว่า สยาม
           5. ให้ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกันทั่วประเทศ ในเวลา 08.00 น. เชิญธงชาติขึ้น และเวลา 18.00 น. ชักธงชาติลง
           6. เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก “1 เมษายน” เป็น “1 มกราคม” ตามแบบสากล เริ่ม พ.ศ.2484
           7. การแต่งกาย
                        ข้าราชการให้แต่งเครื่องแบบ
                        ราษฎรทั่วไป                              ผู้ชาย ให้สวมเสื้อนอกคอเปิดหรือปิด นุ่งกางเกงขายาว สวมหมวกปีกสวมถุงเท้า รองเท้า                             ผู้หญิง สวมเสื้อนอกคุมไหล่ นุ่งผ้าถุง ห้ามนุ่งโจงกระเบน
                การแต่งกายไว้ทุกข์ในงานศพ ผู้ชาย ใช้เสื้อขาว กางเกงขายาวขาว ผ้าผูกคอสีดำ สวมปลอกแขนสีดำ ที่แขนเสื้อด้านซ้าย สวมรองเท้าดำ ถุงเท้าดำ ผู้หญิง ให้แต่งชุดดำล้วน
           8. การกินอาหาร ให้ใช้ช้อนส้อมแทนการใช้มือเปิบ
           9. ห้ามกินหมากโดยเด็ดขาด
         10. ประกาศงดใช้พยัญชนะ 13 ตัว ได้แก่ ฃ ฅ ฒ ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ฌ ศ ษ ฬ ตัดสระออก 5 ตัว
                        ได้แก่ ฤ ฤา ฦ ฦา ใ แต่ในสมัย นายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็นำกลับมาใช้ใหม่
         11. ให้ใช้คำว่า “ฉัน” , “เรา” , “เขา” , “ท่าน” , “มัน” ใช้คำรับและปฏิเสธว่า “จ้ะ” , “ค่ะ” , “ครับ” , “ไม่”
         12. ให้ใช้คำว่า “สวัสดี” ในโอกาสที่พบกัน
         13. ยกเลิกบรรดาศักดิ์ เช่น เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน ให้ใช้ชื่อและนามสกุลแทน
         14. การตั้งชื่อบุคคลต้องให้เหมาะสมกับเพศและมีความยาวไม่เกิน 3 พยางค์
         15. ตั้งกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ.2495 เพื่อส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรม ภายหลังถูกยุบรวมกับกระทรวงศึกษาธิการ
การฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณี (พ.ศ.2501-2506)สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี

          1. พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา จัดให้มีพิธีเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนามของหน่วยทหารรักษาพระองค์ มีการตกแต่งโคมไฟและประดับธงชาติตามสถานที่ราชการ บ้านเรือน ห้างร้าน เพื่อถวายพระเกียรติ
          2. ประกาศยกเลิกวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ และกำหนดวันชาติใหม่ คือ วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
          3. ฟื้นฟูพระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
          4. ฟื้นฟูพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
          5. ฟื้นฟูพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
การฟื้นฟูพระราชพิธีที่สำคัญ สมัยจอมพลถนอม  กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี

          1. ฟื้นฟูพระราชพิธีรัชดาภิเษก ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบ 25 ปี ซึ่งรัชกาลที่ 5 เคยกระทำมาแล้ว
          2. ฟื้นฟูพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ในปีพ.ศ.2515 โดยคณะรัฐบาลได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ ทรงพระกรุณาสถาปนาเฉลิมพระบรมนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ตามโบราณขัตติยราชประเพณี
การศึกษาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง          1. รัชกาลที่ 7 เห็นความสำคัญของการศึกษาโดยไม่ตัดทอนรายจ่ายด้านการศึกษาเลย ถึงแม้จะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักก็ตาม
          2. หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ก็มีการกำหนดการพัฒนาการศึกษา โดยริเริ่ม วางแผนการศึกษาแห่งชาติ จัดให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
          3. ในปี พ.ศ.2477 จัดตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 2 ของไทย ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7
          4. สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จัดตั้งสภาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 ขยายการศึกษาภาคบังคับ จาก 4 ปี เป็น 7 ปี
          5. ในปี พ.ศ.2520 ลดการศึกษาภาคบังคับ จาก 7 ปี เหลือ 6 ปี (ป.1-ป.6) และเพิ่มระดับมัธยมศึกษาจาก 5 ปี เป็น 6 ปี (ม.1-ม.6)
          6. ปัจจุบันปีพ.ศ.2546 การศึกษาภาคบังคับเพิ่มขึ้นจาก 6 ปี เป็น 9 ปี (จบม.3)
          7. ในปีพ.ศ.2514 รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิด คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
          8. ในปีพ.ศ.2521รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิดแห่งที่ 2 คือมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
          9. ส่งเสริมให้เอกชนจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ปัจจุบันมีจำนวนมากหลายแห่ง เช่น ในภาคเหนือ มีมหาวิทยาลัยพายัพ ที่จังหวัดเชียงใหม่
        10. มหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นล่าสุดในภาคเหนือที่ จังหวัดเชียงรายคือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติแด่ สมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)
ที่มา : ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐและคณะ,หนังสือเรียน ส306 ประเทศของเรา 4 สมบูรณ์แบบ,  (กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช,2542)
          คณะทำงานเฉพาะกิจการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,
           ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,   (กรุงเทพฯ : อัมรินทร์การพิมพ์,2525) 

18- สังคมวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปฏิรูปบ้านเมือง

การปรับปรุงทางด้านสังคมในสมัยรัชกาลที่ 4 (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

     ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นช่วงเวลาที่ชาวไทยเริ่มมีการปรับตัวทางด้านสังคมและวัฒนธรรมให้เข้ากับขนบธรรมเนียมประเพณีทางตะวันตกภายหลังจากที่ไทยทำสนธิสัญญาทางการค้ากับ     ชาวตะวันตก
     การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4
อนุญาตให้ไพร่เสียเงินแทนการถูกเกณฑ์แรงงานเข้ารับราชการ
ให้เสรีภาพแก่สตรีที่บรรลุนิติภาวะในการเลือกคู่ครองโดยพ่อแม่จะบังคับไม่ได้
ห้ามพ่อแม่ขายบุตรเป็นทาส
ห้ามสามีขายภรรยาเป็นทาสโดยเจ้าตัวไม่สมัครใจ
ให้นางแอนนา เลียวโนเวนส์ ชาวอังกฤษ ไปสอนภาษาอังกฤษให้กับพระราชโอรสและธิดา
โปรดให้สตรีคณะมิชชันนารีผู้สอนศาสนาคริสต์เข้าไปสอนภาษาอังกฤษให้สตรีในราชสำนัก
การปรับปรุงประเพณีและวัฒนธรรมในสมัยรัชกาลที่ 4     1. ประกาศให้ข้าราชการสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้า
     2. โปรดให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นเพื่อเป็นของที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน
เป็นบำเหน็จรางวัลแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการไทย และชาวต่างประเทศ


     3. ทรงเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โดยพระองค์ทรงร่วมเสวยด้วย
     4. ฟื้นฟูประเพณีการตีกลองร้องฎีกา เพื่อให้ทราบถึงทุกข์สุขของราษฎรโดยจะเสด็จ
ออกมารับฎีกาด้วยพระองค์เอง ทุกวันโกณ เดือนละ 4 ครั้ง
     5. ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกนับถือศาสนา
     6. ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกประกอบอาชีพ
     7. กำหนดให้ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาล ซึ่งรัชกาลที่ 4
ทรงสร้างขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร
     8. รัชกาลที่ 4 ทรงก่อตั้งธรรมยุตินิกาย เมื่อครั้งยังผนวชที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร ในสมัยรัชกาลที่ 3
การปรับปรุงด้านสาธารณสุขสมัยรัชกาลที่ 4
     ด้านการสุขาภิบาล สมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มมีการสุขาภิบาลตามคำแนะนำของบาทหลวงมิชชันนารีบ้างแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด

ที่มา : ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐและคณะ,หนังสือเรียน ส306 ประเทศของเรา 4 สมบูรณ์แบบ,
          (กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช,2542)
          คณะทำงานเฉพาะกิจการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,
           ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,   (กรุงเทพฯ : อัมรินทร์การพิมพ์,2525)   

17-บุคคลสำคัญสมัยอยุธยา

บุคคลสำคัญสมัยอยุธยา
  • การที่ประเทศไทยของเราสามารถดำรงอยู่ได้อย่างน่าภาคภูมิใจในสังคมโลกปัจจุบันนี้ได้นั้น ก็เพราะว่าแต่ละยุคสมัยที่ผ่านมาเราคนไทยมีบรรพบุรุษที่มีความกล้าหาญเสียสละในการปกป้องและ สร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมมาโดยตลอด ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและชาวบ้านบางระจัน เป็นตัวอย่างของพระมหากษัตริย์และประชาชน สมัยอยุธยาที่ทำประโยชน์ต่อบ้านเมือง อันสมควรที่เยาวชนคนไทยทั้งหลายจะยกย่องสรรเสริญ และยึดถือเป็นแบบอย่าง
                        
อนุสาวรีย์วีรชนชาวบ้านบางระจัน

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.2133 - 2148)

  • สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระอัจฉริยะบุคคลอย่างเต็มภาคภูมิ ในยุคสมัยของพระองค์ ทรงเป็นนักการทหารที่มีพระปรีชาสามารถสูงเยี่ยม จนเป็นที่เล่าขานของคนร่วมสมัยทั่วไป พระองค์เป็นสัญลักษณ์ของความเด็ดเดี่ยว กล้าเผชิญปัญหา ที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งคือ ทรงเป็นแบบฉบับของนักการปกครอง ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินไทย โดยคำนึงถึงความสุขสบาย ส่วนพระองค์เลย จนวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ


พระราชประวัติ


  • พระนเรศวรทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและพระวิสุทธิ์กษัตรี ประสูติที่เมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. 2098 ทรงมีพระพี่นางหนึ่งองค์และพระอนุชาผู้ซึ่งครองราชย์ สมบัติต่อมาคือ สมเด็จพระเอกาทศรถ
  • พระนเรศวรถูกส่งไปเป็นตัวประกันที่เมืองพะโค(หงสาวดี) เมื่อพระชนมายุ 9 พรรษา ในคราวที่พระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่า ยกทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือและยึดเมืองพิษณุโลกไว้ได้และต่อมาก็ตีกรุงศรีอยุธยาได้ในปี พ.ศ. 2112 พระมหาธรรมราชาธิราชได้ขึ้นครองราชย์สมบัติในฐานะเมืองขึ้นของพม่า
  • สมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จกลับมากรุงศรีอยุธยา เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา โดยได้รับการ สถาปนาให้เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก มีตำแหน่งในฐานะอุปราชหรือวังหน้า เมื่อพระราชบิดาเสด็จ สวรรคต พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์สมบัติขณะมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา
  • ทรงเสด็จสวรรคตที่เมืองฉาง รัฐฉานในพม่า เมื่อ พ.ศ. 2148 พระชนมพรรษาได้ 50 พรรษา พระอนุชาคือพระเอกาทศรถได้เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อมาพระเกียรติคุณ
  • สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นที่รู้จักในฐานะ "วีรกษัตริย์" หรือในพระนาม "พระองค์ดำ" ทรงพระปรีชาสามารถในการสงครามและการปกครอง อีกทั้งพระองค์ยังเป็นนักการต่างประเทศที่ทรงพระปรีชาสามารถในการดำเนินนโยบายอย่างกล้าหาญอีกด้วย
  • ในช่วงที่เสด็จกลับมาจากพม่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงมอบหมายให้พระองค์เสด็จไปปกครองหัวเมืองเหนือ โดยประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ในระยะเวลา 14 ปีที่ทรงปกครองหัวเมืองเหนือนั้นพระองค์ดำเนินการหลายอย่าง ที่เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการสงครามกอบกู้เอกราช เช่น ฝึกทหาร รวบรวมกำลังคนที่หลบหนีพม่าเข้าป่า ฝึกฝนยุทธวิธีการรบต่าง ๆ
  • สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในการช่วยกษัตริย์พม่ารบหลายครั้ง เช่น การปราบเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองดังได้สำเร็จ ทำให้เป็นที่ไม่ไว้วางใจของพม่าและวางแผนที่จะลอบปลง พระชนม์ แต่พระองค์ทรงล่วงรู้ถึงแผนการเสียก่อน ดังนั้นพระองค์จึงทรงประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับพม่าที่เมืองแครง ในปี พ.ศ. 2127

พระเกียรติคุณ

  • สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นที่รู้จักในฐานะ "วีรกษัตริย์" หรือในพระนาม "พระองค์ดำ" ทรงพระปรีชาสามารถในการสงครามและการปกครอง อีกทั้งพระองค์ยังเป็นนักการต่างประเทศที่ทรงพระปรีชาสามารถในการดำเนินนโยบายอย่างกล้าหาญอีกด้วย
  • ในช่วงที่เสด็จกลับมาจากพม่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงมอบหมายให้พระองค์เสด็จไปปกครองหัวเมืองเหนือ โดยประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ในระยะเวลา 14 ปีที่ทรงปกครองหัวเมืองเหนือนั้นพระองค์ดำเนินการหลายอย่าง ที่เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการสงครามกอบกู้เอกราช เช่น ฝึกทหาร รวบรวมกำลังคนที่หลบหนีพม่าเข้าป่า ฝึกฝนยุทธวิธีการรบต่าง ๆ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในการช่วยกษัตริย์พม่ารบหลายครั้ง เช่น การปราบเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังได้สำเร็จ ทำให้เป็นที่ไม่ไว้วางใจของพม่าและวางแผนที่จะลอบปลง พระชนม์ แต่พระองค์ทรงล่วงรู้ถึงแผนการเสียก่อน ดังนั้นพระองค์จึงทรงประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับพม่าที่เมืองแครง ในปี พ.ศ. 2127 

ด้านการปกครอง

  • เมื่อขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา สมเด็จพระนเรศวรได้เริ่มขยายอำนาจไปยังเมืองต่าง ๆ เช่น ล้านช้าง  เชียงใหม่  ลำปางและกัมพูชาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอยุธยา 
  • เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการศึกสงครามหลายครั้ง รวมทั้งความพยายามฟื้นฟูอยุธยาหลังจากที่ถูก ปกครองโดยพม่า ทำให้พระองค์ทรงดำเนินนโยบายการปกครองที่เน้นระเบียบวินัยเข้มงวด 
  • นอกจากนี้ ทรงดำเนินนโยบายการปกครองแบบดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยส่งขุนนางออกไปปกครองเมือง สำคัญต่าง ๆ เช่น เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย

การขยายแสนยานุภาพทางการทหาร


  • สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำศึกสงครามเพื่อปกป้องบ้านเมืองตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์สมบัติ และเกือบตลอดรัชสมัยที่ทรงครองราชย์ ทั้งการสงครามกับพม่าและเขมรที่ยกกองทัพเข้ามารุกราน หัวเมืองของอาณาจักรอยุธยา ดังที่ชาวต่างชาติชาวฮอลันดาที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาได้พรรณนา เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า ทรงเป็นนักรบที่เก่งกาจ เป็น "วีรบุรุษนักรบ" ทรงรบชนะข้าศึก หลายครั้งและในหลายดินแดน

การขยายอำนาจทางการทหารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

  • ทำให้เขตแดนอาณาจักรอยุธยา แผ่ขยายออกไปกว้างไกลที่สุดนับแต่สถาปนาอาณาจักรขึ้นมา ครอบคลุมทั้งเขตแดนมอญ พม่า ล้านนา ไทยใหญ่ ล้านช้างและเขมร พระองค์ทรงอุทิศเวลาตลอดรัชสมัยในการทำสงครามเสริมสร้างความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ให้กับอยุธยา จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ

เหตุการณ์สงครามยุทธหัตถี


  • พ.ศ. 2135 กองทัพพม่าโดยพระมหาอุปราชาพระโอรสของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง เป็นแม่ทัพ คุมไพร่พลจำนวน 240,000 คน มาทางด่านเจดีย์สามองค์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพออกไป รับศึกที่บ้านหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี สงครามครั้งนี้มีความสำคัญและเป็นที่เลื่องลือในการสู้รบระหว่างสองอาณาจักร นั้นคือสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแม่ทัพพม่า ที่บ้านหนองสาหร่าย สุพรรณบุรี และทรงใช้พระแสงของ้าวฟัน์ พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง ทัพพม่าแตกพ่ายกลับไปและหลังจากสงครามครั้งนี้กรุงศรีอยุธยาว่างเว้นการสงครามกับพม่าเป็นเวลานานมากกว่า 150 ปี

ด้านการต่างประเทศ

  • สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศทั้งด้านการฑูต และการค้า พระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการค้านานาชาติเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการค้าทางทะเลเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอยุธยาซึ่งได้รับความเสียหายจากสงคราม
  • การฟื้นฟูกรุงศรีอยุธยา ประการหนึ่งของพระองค์ก็คือ ทรงอนุญาตให้พ่อค้าชาวต่างชาติโดยเฉพาะพ่อค้าตะวันตกเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา ชาวต่างชาติที่เข้ามาในรัชสมัยนี้ คือ ชาวดัตซ์หรือฮอลันดา พระองค์ทรงโปรด ฯ ให้ฮอลันดาเข้ามาตั้งสถานีการค้าที่อยุธยาและเมืองอื่น ๆ เช่น ภูเก็ต นครศรีธรรมราช สงขลา


สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

พระราชประวัติ


  • สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิบดีที่ 2 (เจ้าสามพระยา) กับพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งสุโขทัย  พระองค์จึงเป็นเชื้อสายราชวงศ์สุพรรณบุรีและราชวงศ์พระร่วง  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของอยุธยา    


พระราชกรณียกิจที่สำคัญ  

1. การรวมอาณาจักรสุโขทัยเข้ากับอยุธยา

  • เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นเสวยราชย์ใน พ.ศ. ๑๙๙๑ นั้น ทางสุโขทัยไม่มีพระมหาธรรมราชาปกครองแล้ว คงมีแต่พระยายุทธิษเฐียร  พระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๔   ได้รับแต่งตั้งจากอยุธยาให้ไปปกครองเมืองพิษณุโลก ถึง พ.ศ. ๑๙๙๔  พระยายุทธิษเฐียรไปเข้ากับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา  พระราชมารดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ปกครองเมืองพิษณุโลกต่อมาจนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๐๐๖  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้เสด็จไปประทับที่พิษณุโลกและถือว่าอาณาจักรสุโขทัยถูกรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


2. ด้านการปฏิรูปการปกครอง


  • สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีพระประสงค์ที่จะดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางหรือราชธานี  จึงลดบทบาทของเจ้านายลงและเพิ่มอำนาจให้ขุนนาง  เพื่อป้องกันการแย่งชิงอำนาจจากเชื้อพระวงศ์ เช่น ลดฐานะเมืองลูกหลวง เมืองหลานหลวงลงเป็นเมืองชั้นจัตวาและส่งขุนนางไปปกครองแทนเจ้านาย มีการแยกฝ่ายทหารและพลเรือนโดยใช้ขุนนางตำแหน่งสมุหพระกลาโหมดูแลกิจการฝ่ายทหาร  สมุหนายกดูแลกิจการฝ่ายพลเรือนทั่วราชอาณาจักร 
  • ทรงตรากฎมนเทียรบาลขึ้นเพื่อความมั่งคงของสถาบันกษัตริย์  นอกจากนี้ยังทรงตราพระราชกำหนดศักดินาได้แก่  พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนและพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง   พ.ศ. ๑๙๙๘  เพื่อประโยชน์ในการลำดับชั้นของบุคคลว่ามีศักดิ์ สิทธิ์ และอำนาจหน้าที่ต่างกันอย่างไร  เป็นการจัดระเบียบการปกครองให้มีแบบแผนรัดกุมกว่าเดิม
  • ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อยุธยาทำสงครามยืดเยื้อกับอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีพระเจ้าติโลกราชเป็นกษัตริย์ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๘๔ - ๒๐๓๐)  ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถประทับที่เมืองพิษณุโลกนานถึง ๒๕ ปี  เพื่อดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือและเพื่อความสะดวกในการป้องกันการรุกรานของล้านนา  ในระยะนี้จึงถือว่าเมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นราชธานีของอาณาจักรอยุธยา
  • สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคตใน พ.ศ. 2031  ทรงอยู่ในราชสมบัติ 40 ปี นับว่านานที่สุดในบรรดากษัตริย์อยุธยาทุกพระองค์

16-ภูมิปัญญาไทยสมัยอยุธยา

ภูมิปัญญาไทยสมัยอยุธยา

  • ภูมิปัญญา ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Wisdom หมายถึง ความรู้ ความสามารถ ทักษะความเชื่อ และศักยภาพในการแก้ปัญหาของมนุษย์ที่สืบทอดกันมาจากอดีตถึงปัจจุบันอย่างไม่ขาดสายและเชื่อมโยงกันทั้งระบบทุกสาขา
  • ภูมิปัญญา  หมายถึง  ความรู้  ทักษะ  ความเชื่อ  และพฤติกรรมของคนไทย  โดยแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน  คนกับธรรมชาติ  การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของบุคคล  ชุมชนและสังคม  ตลอดจนพื้นฐานความรู้เรื่องต่าง  ๆ  ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง 
  • ภูมิปัญญาไทย หมายถึง ความรู้ ความสามารถ ทักษะและเทคนิคการตัดสินใจ ผลิตผลงานของบุคคล อันเกิดจากการสะสมองค์ความรู้ทุกด้านที่ผ่านกระบวนการสืบทอด พัฒนาปรับปรุง และเลือกสรรมาแล้วเป็นอย่างดีสามารถแก้ไขปัญหา และพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัย

ภูมิปัญญาด้านศาสนาและความเชื่อ


  • พระพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูมีบทบาทต่อการวางรากฐานระบบการเมืองบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นคติความเชื่อนี้ได้หล่อหลอมสังคมอยุธยาให้เป็น อันหนึ่งอันเดียวกัน เกิดจากความเหมาะสม ทางสภาพภูมิศาสตร์และความรู้ที่สะสมมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษทำให้อยุธยาเป็นแหล่งเพาะปลูก 
  • โดยเฉพาะการปลูกข้าวซึ่งการปลูกข้าวถือเป็นภูมิปัญญาที่สำคัญของคนอยุธยาที่รู้จักคัดเลือก พันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศที่น้ำท่วมถึง คือข้าวพันธุ์พิเศษนอกจากนี้ชาวอยุธยารู้จักปลูกต้นไม้ผลไม้ในบริเวณที่เป็นคันดินธรรมชาติ (Natural Levee) ที่ขนานไปกับแม่น้ำลำคลองผลไม้เหล่านี้ได้รับปุ๋ยธรรมชาติทำให้มีรสชาติอร่อย พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมอยุธยา
  • ผู้มีความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาย่อมเชื่อว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ทำให้พ้นทุกข์เนื่องจากมนุษย์ต้องเวียนว่าย ตายเกิดอันเกิดจากกฎ แห่งกรรมและเรื่องนรก สวรรค์ นอกจากนี้ยังเชื่อในเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่ว่าทุกสิ่งคืออนิจจังภูมิปัญญา
  • จากความเชื่อนี้ทำให้ชาวอยุธยาสามารถ เผชิญกับปัญหาความทุกข์ยากต่างๆในชีวิตได้ด้วยความอดทน นอกจากนี้การที่สังคมอยุธยาเป็นสังคมนานาชาติที่มีคนต่างชาติต่างศาสนาเข้ามาตั้งถิ่นฐาน โดยพระมหากษัตริย์อยุธยาทรงอนุญาตให้ปฏิบัติพิธีกรรมและเผยแผ่ศาสนาได้โดยเสรี ความเป็นสังคมนานาชาติเกิดจากความเข้าใจและเห็นคุณค่าขันติธรรมในเรื่องศาสนาภูมิปัญญาด้านศาสนาทำให้คนอยุธยาหลักในการดำเนิน   ชีวิตเพื่อความสุขขิงตนเองและการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม 
  • ภูมิปัญญาในสมัยอยุธยาสามารถประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบัน คือ การรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมการนำเทคโนโลยีบางอย่างที่เหมาะสมมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพและความอดทนเข้าใจผู้อื่นที่มีเชื้อชาติ ศาสนาหรือมีความคิดแตกต่างกับตนเอง โดยมุ่งทำให้สังคมมีความสงบสุข
 ภูมิปัญญาด้านการประกอบอาชีพ


  • อยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีความรุ่งเรือง เศรษฐกิจของอยุธยามีทั้งที่ทำการเกษตรและการค้าภายใน ต่อมาจึงพัฒนาเศรษฐกิจเป็นการค้ากับนานาชาติ ภูมิปัญญาในด้านเกษตรกรรมชาวสวนผลไม้อยุธยา ได้ปรับปรุงพันธุ์ผลไม้จนทำให้ผลไม้ที่มีชื่อเสียง 
  • ในปัจจุบันด้วยภูมิปัญญา ดังนี้อยุธยาจึงมีปริมาณอาหาร พอเพียงกับความต้องการ ของพลเมือง ทำให้สามารถพึ่งตนเองได้ เพราะอาหารหลัก คือ ข้าวสามารถปลูกเองได้ สำหรับพืชผักและกุ้ง หอย ปู ปลา หาได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป
  • สภาพภูมิประเทศของอยุธยามีคูคลองเป็นจำนวนมาก ชาวอยุธยาใช้ประโยชน์จากคูคลองที่ปรียบเสมือนเป็นถนนให้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้นได้มีการคมนาคมการขุดคลองลัด เพื่อย่นระยะทางจากปากแม่น้ำ เช่น คลองลัดบางกอกใหญ่ เพื่อความสะดวกในการคมนาคมขนส่งตั้งแต่ยุคกลาง เป็นต้นมา อยุธยาส่งข้าวเป็นสินค้าหลักไปขายยังต่างแดนเช่น ที่เมืองจีน 
  • นอกจากนี้ความเหมาะสมของที่ตั้งอยุธยาไม่ห่างจากทะเลมากนักและมีสินค้าหลากหลายชนิด ทำให้พ่อค้าต่างชาติเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยาทำให้อยุธยากลายเป็นเมืองท่านานาชาติโดยเฉพาะในพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ พระมหากษัตริย์อยุธยา
  • โปรดคัดสรรชาวต่างชาติให้เข้ารับราชการ โดยเฉพาะหน่วยงานทางทหารและการค้าในด้านการค้าชาวต่างชาติ เหล่านี้มีความชำนาญทั้งด้านการค้าและการเดินเรือ มีความรู้ด้านภาษาและเข้าใจวัฒนธรรมของชาติที่อยุธยาติดต่อค้าขายด้วยการรับชาวต่างชาติเข้ารับราชการ แสดงถึงภูมิปัญญาของชาวอยุธยาที่รู้จักเลือก ใช้คนที่มีความชำนาญให้เป็นผู้รับผิดชอบงานต่างๆอยุธยาจึงสามารถขนส่งสินค้าบรรทุกสำเภาไปขายยังเมืองท่าดินแดนต่างๆได้โดยสะดวก
  • สำเภาอยุธยายังแสดงให้เห็นภูมิปัญญาไทย กล่าวคือพระมหากษัตริย์โปรดให้ต่อสำเภาโดยช่างชาวจีน เป็นเรือสำเภาประเภท ๒ เสา คล้ายกับสำเภาจีนซึ่งแล่นอยู่ตามทะเลจีนใต้ ใบเรือทั้งสองทำด้วยไม้ไผ่สานซึ่งหาได้ง่ายและมีน้ำหนักเบา ส่วนใบเรือด้านบนสุดและด้านหัวเรือใช้ผ้าฝ้ายซึ่งเป็นวัดุที่ชาวอยุธยาทอใช้ในครัวเรือนแต่วิธีการเป็นวิธีแบบชาวตะวันตกที่ช่วยให้สำเภาเร็วขึ้นสำหรับหางเสือของสำเภาเป็นไม้เนื้อแข็งคล้ายกับสำเภาจีน (ชนิดที่เดินทางไกล) แต่ทว่าหางเสือของสำเภาอยุธยา ได้เจาะรูขนาดใหญ่ไว้ ๓ รู แล้วสอดเหล็กกล้า ยึดติดกับลำเรือทำให้บังคับเรือได้ดีและมีความคงทน
  • นอกจากนี้บริเวณกาบเรือใช้น้ำมันทาไม้และใช้ยางไม้หรือสีทา ในส่วนของเรือที่จมน้ำโดยผสมปูนขาวเพื่อป้องกันเนื้อไม้และตัวเพลี้ยเกาะซึ่งทำให้เรือผุ สำเภาอยุธยานับเป็นภูมิปัญญาของคนอยุธยาที่ใช้เทคโนโลยีผสมกันระหว่างสำเภาจีนกับเรือแกลิออทของ ฮอลันดาเพื่อให้เรือวิ่งได้เร็วและทนทาน ภูมิปัญญาของชาวอยุธยาในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจ ของอยุธยามั่งคั่งรุ่งเรือง


ภูมิปัญญาด้านการตั้งถิ่นฐาน


  • การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่สมัยอดีตมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางภูมิศาสตร์ กล่าวคือ ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้แหล่งอาหารและในที่ซึ่งมีความปลอดภัยสำหรับอยุธยาตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มดินดอน สามเหลี่ยมเจ้าพระยาตอนล่างสภาพโดยทั่วไปของพื้นที่อุดมสมบูรณ์ สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอกับความต้องการ ของชุมชน ขณะเดียวกันที่ตั้งของอยุธยายังตั้งอยู่ในบริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยาลพบุรี ป่าสักไหลมาบรรจบกัน ทำให้ปลอดภัยและสามารถใช้แม่น้ำลำคลองเหล่านี้เป็นเส้นทางคม นาคมติดต่อค้าขายและเข้าถึงแหล่งทรัพยากร ที่มีอยู่มากมายในหัวเมืองอื่นๆทางหัวเมืองเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือตลอดจนอาณาจักรที่อยู่ลึกเข้าไปเช่นอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง และพุกามได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ที่ตั้งของอยุธยาอยู่ห่างจากปากน้ำเจ้าพระยาประมาณ ๒๐๐  กิโลเมตรใช้เวลาประมาณ ๓ วัน  เพื่อล่องเรือจากราชธานีไปจนถึงปากน้ำ ดังนั้นเมื่อข้าศึกยกทัพมาทะเลจึงมีเวลาเตรียมพร้อม
  • สำหรับการป้องกันเมืองการที่อยุธยา ที่มีที่ตั้งซึ่งมีสภาพแวดล้อมเช่นนี้ทำให้อยุธยามีความปลอดภัยและมีอาหารอุดมสมบูรณ์
  • อย่างไรก็ตามสภาพภูมิประเทศของอยุธยา ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก จะมีน้ำท่วมขังกินเวลานานทำให้เป็นอุปสรรคต่อการตั้งถิ่นฐานแต่ชาวอยุธยาและผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้ใช้ภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาโดยการ 
  • ปลูกเรือนใต้ถุนสูงพ้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม เมื่อน้ำ ลดพื้นดินแห้งดีแล้วสามารถใช้ประโยชนจากบริเวณใต้ถุนเรือนซึ่งเป็นที่โล่งทำกิจกรรมภายในครัวเรือน เช่น จักสาน ทอผ้า เลี้ยงลูก หรือใช้สำหรับเก็บอุปกรณ์จับปลาและเครื่องมือมาทำนา  


 บ้านเรือนของชาวอยุธยามี ๒  ลักษณะคือ


  • ๑.เรือนชั่วคราวหรือเรือนเครื่องผูก  เป็นเรือนของชาวบ้านโดยทั่วไปสร้างด้วยไม้ไผ่หรือใบจากซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นและสามารถรวบรวมกำลังคนในครอบครัวหรือเพื่อนบ้านปลูกเรือนได้ไม่ยาก
  • ๒.เรือนถาวรหรือเรือนเครื่องสับ  เป็นเรือนของผู้มีฐานะ เช่น ขุนนางหรือเจ้านาย ซึ่งเป็นเรือนที่สร้างอย่างประณีตด้วยไม้เนื้อแข็งหนาแน่นและทนทานไม้เหล่านี้ได้จากป่าในหัวเมืองเหนือที่ใช้วิธีล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยานอกจากเรือนยกพื้นสูงแล้วชาวอยุธยายังอาศัยอยู่ในเรือนอีกประเภทหนึ่งที่ไม่มีเสา พื้นเรือนติดน้ำแต่ลอยได้ คือเรือนแพ ที่สะดวกสำหรับการ เคลื่อนย้าย เรือนแพนี้ยังทำหน้าที่เป็นร้านค้าด้วยดังนั้นที่กรุงศรีอยุธยาจึงมีเรือนแพตั้งเรียงรายตามแม่น้ำ ลำคลอง ชาวอยุธยานอกจากจะปรับตนให้เข้ากับภูมิประเทศที่ประกอบด้วยแม่น้ำลำคลองแล้วยังใช้ภูมิปัญญาดัดแปลงแม่น้ำลำคลอง เพื่อใช้ป้องกันข้าศึกได้ด้วยตัวอย่างเช่น ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่า จึงมีการเตรียมการโดยขยายขุดลอกคลองคูขื่อหน้าเพื่อให้อยู่ในสภาพที่รับศึกได้หรือการที่มหานาควัดท่าทราย ระดมชาวบ้านขุดคลองมหานาคเป็นคูป้องกัน พระนครชั้นนอกอีกชั้นหนึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๐๘๖ เพื่อป้องกันศึกพม่า 
  • นอกจากที่กล่าวมาแล้ว สภาพภูมิประเทศที่เป็นมาน้ำลำคลองจำนวนมาก ทำให้ชาวอยุธยามีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการใช้เรือในการ คมนาคมเรือสำหรับชาวบ้านเป็นเรือที่ต่ออย่างง่ายๆ เช่นเรือขุดและเรือแจว  แต่คนในสมัยอยุธยามีภูมิปัญญาในการขุดเรือยาว  ที่พระมหากษัตริย์อยุธยาใช้เป็นเรือรบในการขนกำลังคนไปได้เป็นจำนวนมาก พระมหากษัตริย์เสด็จพยุหยาตราเพื่อเสด็จไปทำสงครามและไดพัฒนาเป็นกองทัพเรือ ในเวลาที่บ้านเมืองเป็นปกติพระมหากษัตริย์ทรงใช้เรือเหล่านี้เสด็จพระราชดำเนินในพิธีต่างๆ เช่นพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยจัดขบวนเรือรบซึ่งเท่ากับเป็นการซ้อมรบโดยปริยาย

15-สังคมสมัยอยุธยา

สังคมสมัยอยุธยา

สภาพสังคมไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา


  • สังคมไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าจะต่อเนื่องมาจากสังคมสมัยสุโขทัย แต่ก็ได้มีความเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากสังคมสมัยสุโขทัยหลายด้าน ทั้งนี้ก็เพราะว่าสถาบันสูงสุดของการปกครองได้เปลี่ยนฐานะไป นั่นคือ พระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนฐานะจากมนุษยราช
  • ในสมัยสุโขทัยเป็นเทวธิราชขึ้นในสมัยอยุธยา เปลี่ยนจากฐานะความเป็น "พ่อขุน" มาเป็น "เจ้าชีวิต" ของประชาชนซึ่งเป็นผลให้ระบบและสถาบันทางการปกครองต่างๆ แตกต่างไปจากสังคมไทยสมัยสุโขทัยด้วยชนชั้นของสังคมสมัยอยุธยา
  • สังคมอยุธยา เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยชนชั้น นับตั้งแต่การแบ่งแยกชนชั้นอย่างเด็ดขาด ระหว่างกษัตริย์กับราษฎรแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ ก็มีอันดับสูงต่ำลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ในหมู่ราษฎร ก็มีการแบ่งชนชั้นกันเป็นชนชั้นผู้ดีกับชนชั้นไพร่ ในหมู่ข้าราชการก็มีศักดินาเป็นตัวกำหนดความสูงต่ำของข้าราชการในชนชั้นต่างๆ ซึ่งชนชั้นต่างๆ เหล่านี้ จะก่อให้เกิดมีสิทธิในสังคมอยุธยาขึ้นแตกต่างกันด้วย
  • ชนชั้นสูงสุดในสมัยอยุธยาคือพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนข้าราชการหรือขุนนางนั้น ก็แบ่งเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันไปตามลักษณะหน้าที่และความรับผิดชอบ พร้อมกับตำแหน่งหน้าที่แล้ว ราชการสมัยอยุธยายังมีศักดินาซึ่งมากน้อยตามตำแหน่งหน้าที่ ระบบศักดินานี้เป็นระบอบของสังคมอยุธยาโดยแท้ เพราะศักดินานั้น ทกคนต้องมีตั้งแต่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ พระบรมวงศานุวงศ์ลงไปจนถึงข้าราชการชั้นผู้น้อย และประชาชนธรรมดา จำนวนลดหลั่นลงไป
  • นอกจากจะแบ่งตามหน้าที่ตำแหน่งและความรับผิดชอบแล้ว ชนชั้นในสังคมอยุธยา ยังแบ่งออกกว้างๆ เป็นสองชนชั้นอีก คือ ผู้มีศักดินาตั้งแต่ 400 ขึ้นไป เรียกว่าชนชั้นผู้ดี ส่วนที่ต่ำลงมาเรียกว่า ไพร่ แต่ไพร่ก็อาจเป็นผู้ดีได้ เมื่อได้ทำความดีความชอบเพิ่มศักดินาของตนขึ้นไปถึง 400 แล้ว และผู้ดีก็อาจตกลงมาเป็นไพร่ได้หากถูกลดศักดินาลงมาจนต่ำกว่า 400 การเพิ่มการลดศักดินา
  • ในสมัยอยุธยาก็อาจทำกันง่ายๆ หากได้ทำความดีความชอบหรือความผิด การแบ่งคนออกเป็นชนชั้นไพร่ และชนชั้นผู้ดีเช่นนี้ ทำให้สิทธิของคนในสังคมแต่ละชั้นต่างกัน สิทธิพิเศษต่างๆ ตกไปเป็นของชนชั้นผู้ดีตามลำดับแห่งความมากน้อยของศักดินา เช่นผู้ดีเองและคนในครอบครัวได้รับยกเว้นไม่ถูกเกณฑ์ไปใช้งานราชการ ในฐานะที่เรียกกันว่า แลก เมื่อเกิดเรื่องศาล ผู้ดีก็ไม่ต้องไปศาล เว้นแต่ผิดอาญาแผ่นดิน เป็นขบถ ธรรมดาผู้ดีจะส่งคนไปแทนตนในโรงศาล มีทนายไว้ใช้เป็นการส่วนตัว นอกจากนั้น ก็ยังมีสิทธิเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ในขณะที่เสด็จออก ขุนนาง เมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่ ผู้ดีที่มีศักดินาสูงๆ จะต้องคุมคนไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อรับราชการทัพได้ในทันที
  • เมื่อพระมหากษัตริย์เรียก เช่น ผู้มีศักดินา 10,000 และมีหน้าที่บังคับบัญชากรมกอง ซึ่งมีไพร่หลวงสังกัดอยู่ ก็ต้องรับผิดชอบกะเกณฑ์คนแข็งแรงและมีประสิทธิภาพด้วย


สังคมอยุธยา


  • สังคมอยุธยานั้น กฎหมายกำหนดให้ทุกคนต้องมีนาย ตามกฎหมาย ลักษณะรับฟ้องมาตรา 10 กล่าวว่า "ราษฎรรับฟ้องร้องด้วยคดีประการใดๆ แลมิได้สังกัดมูลนายอย่าพึงรับไว้บังคับบัญชาเป็นอันขาดทีเดียว ให้ส่งตัวผู้นั้นแก่สัสดี เอาเป็นคนหลวง" จะเห็นว่า ไพร่ทุกคนของสังคมอยุธยาต้องมีสังกัดมูลนายของตน ผู้ไม่มีนายสังกัดกฎหมายไม่รับผิดชอบในการพิทักษ์รักษาชีวิตและทรัพย์สิน ไพร่จะต้องรับใช้ชาติในยามสงคราม จึงต้องมีสังกัดเพื่อจะเรียกใช้สะดวก เพราะในสมัยอยุธยานั้น ไม่มีทหารเกณฑ์หรือทหารประจำการในกองทัพเหมือนปัจจุบัน จะมีก็แต่กองทหารรักษาพระองค์เท่านั้น 
  • นอกจากนั้น เป็นเพราะสมัยแรกตั้งกรุงศรีอยุธยา ต้องใช้ชายฉกรรจ์จำนวนมากในการปกป้องข้าศึก ศัตรู ความจำเป็นของสังคมจึงบังคับให้ราษฎรต้องมีนาย เพราะนายจะเป็นผู้เกณฑ์กำลังไปให้เมืองหลวงป้องกันภัยจากข้าศึกศัตรู และนายซึ่งต่อมากลายเป็น "เจ้าขุนมูลนาย" ต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกหมู่ของตน ถ้านายสมรู้ร่วมคิดกับลูกหมู่ทำความผิด ก็ถูกปรับไหมตามยศสูงต่ำ และหากลูกหมู่ของตนถูกกล่าวหาว่าเป็นโจรปล้นทรัพย์ มูลนายก็ต้องส่งตัวลูกหมู่ให้แก่ตระลากร
  • สังคมอยุธยาจึงเป็นสังคมที่ต้องมีความรับผิดชอบมากอยู่ มีกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย เพราะลักษณะและองค์ประกอบของสังคมซับซ้อนกว่าสังคมสุโขทัย

ระบบราชการสมัยกรุงศรีอยุธยา

  • ลักษณะสังคมไทยที่น่าสนใจอยู่อีกประการหนึ่งคือ ระบบราชการ ซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดราษฎรให้มีภาระต่อแผ่นดิน ชีวิตคนไทยได้ผูกพันอยู่กับราชการมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ข้าราชการในสมัยอยุธยา เรียกว่า ขุนนาง มียศหรือบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาหรือออกญาเป็นชั้นสูงสุด และลดลงไปตามลำดับคือ เจ้าหมื่น พระ จมื่น หลวง ขุน จ่า หมื่น และพัน ส่วนเจ้าพระยา และสมเด็จพระยานั้น เกิดในตอนปลายๆ สมัยอยุธยา ส่วนยศ เจ้าหมื่น จมื่น และจ่านั้น เป็นยศที่ใช้กันอยู่ในกรมหาดเล็กเท่านั้น 
  • ส่วนตำแหน่งข้าราชการสมัยอยุธยาก็มี อัครมหาเสนาบดี เสนาบดี จางวาง เจ้ากรม ปลัดกรม และสมุหบัญชี เป็นต้น ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี และเสนาบดีนั้นในระยะแรกๆ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา ต่อมาในระยะหลังๆ ก็เป็นเจ้าพระยาไปหมด ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ตั้งแต่ จางวาง เจ้ากรม ปลัดกรมลงมาจนถึงสมุบัญชีนั้น มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาบ้าง พระบ้าง จนถึงหลวง และขุนตามความสำคัญของตำแหน่งนั้นๆ ข้าราชการในสมัยอยุธยา ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนหรือเงินปี ได้รับพระราชทานเพียงที่อยู่อาศัยและเครื่องอุปโภคบริโภคบางอย่าง เช่น หีบเงินใช้ใส่พลู ศาตราวุธ เรือยาว สัตว์ พาหนะ เลกสมกำลังและเลกทาสไว้ใช้สอย ที่ดินสำหรับทำสวนทำไร่ แต่เมื่อออกจากราชการแล้วก็ต้องคืนเป็นของหลวงหมดสิ้น


ไพร่สมัยอยุธยา


  • ระบบราชการของอยุธยานั้น ได้นำคนลงเป็นไพร่ สังคมอยุธยาจึงมีไพร่มีนาย ตามจดหมายเหตุลาลูแบร์กล่าวไว้ว่า "ประชาชนชาวสยามรวมกันเป็นกองทหารรักษาดินแดน" ซึ่งทุกคนต้องขึ้นทะเบียนหางว่าวกรมสุรัสวดีเข้าไว้ทั้งหมด ทุกคนเป็นพลรบต้องเกณฑ์เข้าเดือนรับราชการในพระองค์ปีละ 6 เดือน พลเมืองทั้งสิ้นต้องขึ้นทะเบียนเป็นหลักฐานไว้โดยแบ่งออกเป็นฝ่ายขวาฝ่ายซ้าย เพื่อทุกคนรู้ว่าตนต้องขึ้นสังกัดหน้าที่ฝ่ายใด นอกจากนั้น ยังแบ่งส่วนราชการออกเป็นกรมอีก แต่ละกรมมีหัวหน้าคนหนึ่งเรียกว่า นาย จนกระทั่งนายนี้เป็นคำแสดงความเคารพยกย่องที่ใช้กันทั่วไปแม้ระเบียบการปกครองสมัยอยุธยาจะแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ออกเป็นฝ่ายทหารและพลเรือน แต่ก็ปรากฏว่าใช้ได้แค่ยามปรกติเท่านั้น พอเกิดสงครามขึ้น เจ้านายทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนก็ต้องเข้าประจำกองตามทำเนียบตน ทั้งนี้เพราะกำลังพลมีน้อย ไม่อาจแยกหน้าป้องกันประเทศไว้กับทหารฝ่ายเดียวได้ จำเป็นต้องใช้หลักการรวม จึงทำให้ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเป็นทหาร
  • สมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า ไพร่ ไพร่เป็นคำที่กินความกว้างขวาง เพราะผูกพันอยู่กับราชการมากกว่าทหารปัจจุบัน ในสมัยอยุธยา ไพร่คือ ประชาชนที่สังกัดมูลนายต่างๆ มีหน้าที่และความรับผิดชอบแยกออกได้ดังนี้

  • 1. ไพร่หลวง หมายถึง ไพร่ที่สังกัดวังหลวงหรือพระเจ้าแผ่นดิน ไพร่หลวงจะต้องถูกเกณฑ์เข้ารับราชการปีละ 6 เดือน คือเข้าเดือนหนึ่งออกเดือนหนึ่งสลับกันไป ถ้าไม่อยากถูกเกณฑ์เข้ารับราชการก็จะต้องเสียเงินแทน ซึ่งอาจจะเป็นเดือนละ 4-6 บาท ไพร่หลวงจะต้องสังกัดอยู่ในกรมพระสัสดีซ้าย ขวานอก ใน ไพร่หลวงที่เป็นชายเมื่อเกิดศึกสงครามก็จะต้องออกรบได้
  • 2. ไพร่สม หมายถึง ไพร่ที่สังกัดบรรดาเจ้านายหรือขุนนางใหญ่น้อยทั้งหลายในยามปรกติก็ถูกเกณฑ์แรงงานหรือรับราชการถ้าเกิดศึกสงครามผู้เป็นชายก็จะต้องออกรบ มีบางครั้งพวกไพร่หลวงหนีไปสมัครเป็นไพร่สมอยู่กับเจ้านาย กฎหมายอยุธยามีบทลงโทษถึงจำคุกและถูกเฆี่ยนถ้าหากจับได้นอกจากนั้น กฎหมายอยุธยายังได้กำหนดอีกว่า ถ้าพ่อกับแม่สังกัดแตกต่างกันเช่นคนหนึ่งเป็นไพร่หลวง อีกคนหนึ่งเป็นไพร่สม ลูกที่เกิดอาจจะต้องแยกสังกัดตามที่กฎหมายกำหนด
  • 3. ไพร่ราบ หมายถึง ไพร่ที่สังกัดมูลนาย มีอายุระหว่าง 13-17 ปี มีศักดินาระหว่าง 15
  • 4. ไพร่ส่วย คือ พวกที่ยกเว้นไม่ต้องถูกเกณฑ์เข้ามารับราชการแต่จะต้องส่งสิ่งของมาให้หลวงแทน เช่น อาจจะเป็นดีบุก ฝาง หญ้าช้าง ถ้าไม่นำสิ่งของเหล่านี้มาจะต้องจ่ายเงินแทน
  • 5. เลกหรือเลข เป็นคำรวมที่ใช้เรียกไพร่หัวเมืองทั้งหลายตลอดจนข้าทาส พวกเลกหัวเมือง ยังขึ้นกับกระทรวงใหญ่ 2 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย และกลาโหม มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา


ทาสสมัยอยุธยา


  • เป็นที่ยอมรับกันว่า สังคมอยุธยามีทาสไว้ใช้ ทาสเป็นชนชั้นอีกชนชั้นหนึ่งของสังคมสมัยอยุธยาและกฎหมายอยุธยาก็ได้ยอมรับการมีทาส มีบทบัญญัติเกี่ยวกับทาสไว้มากมายและได้แบ่งประเภทของทาสไว้ 7 พวกด้วยกันคือ
1. ทาสสินไถ่

2. ทาสเกิดในเรือนเบี้ย

3. ทาสได้มาแต่บิดามารดา

4. ทาสท่านให้

5. ทาสอันได้ช่วยเหลือในยามโทษทัณฑ์

6. ทาสอันได้เลี้ยงมาเมื่อเกิดทุพภิกขภัย

7. ทาสอันได้ด้วยเชลย


  • จะเห็นว่า ทาสในสมัยอยุธยานั้น เป็นทาสที่ถูกกฎหมายคุ้มครอง เป็นทาสที่มีสภาพเป็นมนุษย์และเป็นพลเมืองของชาติอย่างสมบูรณ์ ฉะนั้นคนไทยในสมัยอยุธยาจึงสมัครใจจะเป็นทาสมากกว่าจะเป็นขอทาน เพราะอย่างน้อยก็มีข้าวกินมีที่อยู่อาศัยโดยไม่เดือดร้อน

ชีวิตความเป็นอยู่และประเพณีบางอย่างสมัยอยุธยา


  • การก่อรูปสังคมนั้น โดยทั่วไปย่อมเป็นหมู่บ้านตามที่อุดมสมบูรณ์พอจะเพาะปลูกเพื่อยังชีพได้ เช่น บริเวณลุ่มแม่น้ำ ลักษณะการก่อรูปของสังคมไทยโบราณก็เป็นไปลักษณะนี้


1. บ้านเรือนสมัยอยุธยา สร้างเป็นหลังขนาดย่อมๆ 

2. ผู้หญิงต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวมากกว่าผู้ชาย 

3. ชอบเล่นการพนันกันอย่างกว้างขวาง 

4. ชอบสูบยาเส้น และสูบกันอย่างกว้างขวาง 

5. นิยมให้ลูกชายได้ศึกษาเล่าเรียนโดยใช้วัดเป็นสถานศึกษา