แท็บ — ย้ายแกดเจ็ตไว้ข้างใต้ส่วนหัว

รายวิชา ประวัติศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2558

2.การทหารของไทยสมัยสุโขทัย

การทหารของไทยสมัยสุโขทัย
    กิจการทหารของไทยมีอยู่ควบคู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทยตลอดมา  ตั้งแต่ชนชาวไทยได้รวมกันเป็นแว่นแคว้นในสุวรรณภูมิ มีตำนานเล่าขานสืบมาช้านาน  มีแบบอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่ได้ประยุกต์มาจากภูมิปัญญาของไทย
            เมื่อเกิดอาณาจักรสุโขทัยขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 จากหลักฐานทางศิลาจารึกพบว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาทหารโดยตรงและทรงนำกองทัพเข้าสงครามด้วยพระองค์เองในฐานะเป็นจอมทัพบรรดาชายฉกรรจ์ทั้งปวงจะเป็นทั้งพลเมืองและทหารในกองทัพหลวง ตามกรมกองที่ตนสังกัด
            การฝึกหัดทหาร จะใช้หัวหน้าสกุลในแต่ละหมู่บ้านเป็นผู้ควบคุมฝึกสอนวิชาการต่อสู้  เมื่อเกิดศึกสงครามทหารทุกคนจะมีอาวุธคู่มือที่ตนได้ฝึกซ้อมไว้ช่ำชองดีแล้วพร้อมที่จะใช้งานส่วนเสบียงอาหารก็จะเตรียมไว้เฉพาะตน  ในขั้นต้นมีความสมบูรณ์ในตนเอง  พร้อมที่จะออกศึกได้ทันที
            การสร้างค่าย คู ประตู หอรบนั้นจะมีอยู่ทั้งที่ตั้งปกติ  คือเมืองซึ่งจะมีการสร้างอย่างถาวร สมบูรณ์แข็งแรงตามขนาดและความสำคัญของเมืองนั้น ๆ และจะสร้างอย่างชั่วคราวเมื่อยกทัพไปทำศึกและต้องหยุดทัพตั้งมั่น ดังจะเห็นได้จากเมืองโบราณทุกแห่งสำหรับกรุงสุโขทัยซึ่งเป็นเมืองหลวง จะมีการสร้างคันดินคูน้ำเป็นกำแพงเมือง  และมีคูเมืองล้อมรอบอยู่สามชั้นเรียกว่า ตรีบูร มีป้อมประจำประตูเมืองทั้งสี่ทิศ
            อาณาเขตของกรุงสุโขทัยในระยะที่ชนชาวไทยตั้งตนเป็นอิสระในปี พ.ศ. 1800 นั้นมีแคว้นสำคัญที่อยู่โดยรอบดังนี้
            ด้านเหนือ   ติดกับแคว้นล้านช้างและล้านนา
            แคว้นล้านนา   ประกอบด้วย เมืองต่าง ๆ  ที่ชนชาวเผ่าไทยปกครองตนเอง เป็นส่วนใหญ่เช่น เมืองเชียงราย เมืองพะเยา เมืองน่านเมืองแพร่ และเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ซึ่งปกครองด้วยราชวงศ์จามเทวี (มอญ)
           แคว้นล้านช้าง   ซึ่งเป็นถิ่นของชนชาวเผ่าไทย เช่นกันแต่เรียกชื่อว่าลาว มีเมือง ชวา (หลวงพระบาง) เป็นราชธานี
            ในระยะนั้นทั้งสองแคว้นคือ ล้านนาและล้านช้างยังมีฐานะเป็นเมืองส่วยของอาณาจักรกัมพูชา
            ด้านตะวันออก   มีอาณาจักรกัมพูชาซึ่งราชวงศ์ขอมปกครองอยู่  และยังมีอำนาจแผ่เข้ามาปกครองหัวเมืองในภาคอีสานของไทยในปัจจุบันแต่อยู่ในสภาพที่อ่อนแอลงไปมาก
            ด้านใต้    มีแคว้นละโว้ซึ่งยังอยู่ในปกครองของขอม ประกอบด้วยเมืองอโยธยา เมืองสุพรรณบุรีเมืองกาญจนบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี  เมืองศรีวิชัย (นครชัยศรี)และเมืองนครศรีธรรมราช
            ด้านตะวันตก   มีอาณาจักรพุกามของพม่าประกอบด้วยเมืองตะนาวศรี  เมืองทวาย  เมืองเมาะตะมะ เมืองตองอู  มีชนพื้นเมืองเป็นชาวมอญกระหนาบอยู่  และมีเมืองฉอด  ที่มีชนเผ่าไทยปกครองอยู่
            ในช่วงระยะเกือบ 200 ปี (พ.ศ. 1800-1981)  อาณาจักสุโขทัย ได้แผ่ไพศาลไปอย่างกว้างขวางในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. 1822-1862)  จากศิลาจารึกหลักที่ 1 ดังนี้
            ทิศเหนือ         ได้เมืองหลวงพระบาง
            ทิศตะวันออก         ได้เมืองเวียงจันทน์  และเมืองเวียงคำ
            ทิศใต้         ได้เมืองนครศรีธรรมราช  ไปจนสุดแหลมมาลายู
            ทิศตะวันตก         ได้เมืองหงสาวดีไว้ในอำนาจ
            การดำเนินการด้านยุทธศาสตร์
            เพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยของราชธานีซึ่งถือว่า เป็นหัวใจของอาณาจักร เพราะการเสียราชธานีก็เท่ากับเป็นการเสียราชอาณาจักร เพราะราชธานีเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจในทุกด้าน  ดังนั้น  การระวังป้องกันสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ราชธานีจึงนับว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของราชอาณาจักร
            การแบ่งพื้นที่การปกครอง ในสมัยสุโขทัยได้กำหนดพื้นที่เป็น 3 ชั้น ตัวราชธานี เป็นเขตชั้นใน  บรรดาเมืองต่าง ๆที่อยู่รายรอบราชธานี เป็นเขตชั้นกลาง และเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ชั้นนอกออกไปเป็นเมืองประเทศราช
            หัวเมืองชั้นกลาง   สันนิษฐานว่าน่าจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ เมืองลูกหลวง และหัวเมืองใหญ่
            เมืองลูกหลวง   เป็นเมืองที่ทรงส่งลูกหลวงหรือบุคคลสำคัญในราชวงศ์ หรือข้าหลวงที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยไปปกครองมีหน้าที่เตรียมกำลังทหาร ไว้ป้องกันพื้นที่ของตนเองและของราชธานีหรือสมทบกำลังเข้ากับทัพหลวง จึงเรียกว่า เมืองหน้าด่าน   เมืองหน้าด่านนี้จะตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพเข้าสู่ราชธานีทั้งสี่ทิศที่จะต้องใช้เวลาเดินทัพประมาณ 1 วัน ซึ่งเป็นระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร  ดังนั้นทางด้านทิศเหนือจะมีเมืองศรีสัชนาลัย ทางด้านทิศตะวันออกจะมีเมืองสองแคว (พิษณุโลก)ทางด้านทิศใต้มีเมืองสระหลวง (เมืองพิจิตรเก่า) และทางด้านทิศตะวันตก มีเมืองนครชุม
            หัวเมืองใหญ่   หรือที่เรียกกันภายหลังว่าเมืองพระยามหานคร มีขุนเป็นผู้ปกครอง เว้นแต่ด้านการต่างประเทศและด้านการทหารต้องขึ้นกับราชธานี ดังนั้นเมื่อเกิดศึกสงคราม จะได้รับคำสั่งให้ยกมาสมทบกองทัพหลวงเมืองดังกล่าวได้แก่เมืองฉอด เมืองพระบาง และเมืองเชียงของ เป็นต้น
            ประเทศราช หรือเมืองออก   เป็นดินแดนที่ปกครองตนเองเพียงแต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการแก่ราชธานี ตามจำนวนและระยะเวลาที่กำหนด  และเมื่อราชธานีเกิดมีสงครามใหญ่ อาจมีพระบรมราชโองการให้ยกทัพไปช่วยก็ได้  เมืองดังกล่าวได้แก่ เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองชวา (หลวงพระบาง) เมืองเวียงจันทน์เมืองหงสาวดี เมืองสุพรรณภูมิ และเมืองนครศรีธรรมราชเป็นต้น

            การเตรียมกำลังทหาร
            มีหลักอยู่ว่า ผู้ชายไทยทุกคนต้องเป็นทหารดังนั้นในยามปกติ ก็ดำเนินชีวิตไปตามครรลองของตน แต่เมื่อเกิดศึกสงครามทุกคนก็ทำหน้าที่เป็นทหาร การที่จะดำรงอยู่ในภาวะดังกล่าวได้จะต้องมีระบบรองรับโดยที่เริ่มจากระดับล่างสุด คือครอบครัว โดยที่หัวหน้าครอบครัวหรือหัวหน้าสกุล  ทำหน้าที่ควบคุมทหารในสกุลของตน เรียกว่าเจ้าหมู่  จัดว่าเป็นหน่วยทหารที่เล็กที่สุดในระบบการจัด  สำหรับตัวพ่อขุนจะเป็นจอมทัพด้วยพระองค์เอง
            เมื่อสันนิษฐานจากข้อมูลในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 พออนุมานได้ว่า ชาวไทยชาวสุโขทัยทุกคนต้องเป็นทหารเมื่ออายุ 18 ปีและปลดพ้นการเป็นทหารเมื่ออายุ 60 ปี  เกณฑ์นี้ได้ถือปฏิบัติต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา
            การจัดเหล่าทหาร  ไม่มีหลักฐานแน่ชัดแต่ที่พบในมังรายศาสตร์ มีการจัดเหล่าทหารไว้เป็นสามเหล่าคือ
           ชั้นสูง  ได้แก่  เหล่าพลช้าง เรียกว่า นายช้าง
           ชั้นกลาง  ได้แก่  เหล่าพลม้า เรียกว่า นายม้า
           ชั้นต่ำ  ได้แก่  เหล่าพลราบ เรียกว่า นายตีน

        
การจัดหน่วยทหาร   ตามมังรายศาสตร์ได้กล่าวถึงการจัดหน่วยทหาร ตั้งแต่เล็กไปใหญ่ตามหลักจำนวนไพร่พลที่มีอยู่ในหน่วยนั้น ๆ เริ่มต้นจากหน่วยเล็กที่สุดคือ
            ไพร่สิบคน  ให้มีนายสิบผู้หนี่ง ข่มกว้านผู้หนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อ (เทียบเท่าผู้บังคับหมู่ในปัจจุบัน)
            นายสิบห้าคน  ให้มีนายห้าสิบผู้หนึ่งมีปากขวาและปากซ้ายเป็นผู้ช่วย (เทียบเท่าผู้บังคับหมวดในปัจจุบัน)
            นายห้าสิบสองคน  ให้มีนายร้อยผู้หนึ่ง    (เทียบเท่ากับผู้บังคับกองร้อยในปัจจุบัน)
            นายร้อยสิบคนให้มีเจ้าพันผู้หนึ่ง       (เทียบเท่ากับผู้บังคับกองพันในปัจจุบัน)
            เจ้าพันสิบคน  ให้มีเจ้าหมื่นผู้หนึ่ง       (เทียบเท่ากับผู้บัญชาการกองพลในปัจจุบัน)
            เจ้าหมื่นสิบคน  ให้มีเจ้าแสนผู้หนึ่ง      (เทียบเท่ากับแม่ทัพในปัจจุบัน)
            การจัดดังกล่าวนี้ร่วมสมัยกับสมัยกรุงสุโขทัยจึงอาจนำมาใช้กับการทหารของกรุงสุโขทัยได้
            อาวุธยุทโธปกรณ์   อาวุธที่ใช้ในสมัยนั้นจะเป็นอาวุธประจำกายของแต่ละบุคคลทั้งสิ้น เช่น ทวน  หอก  ดาบ แหลน หลาว เกาทัณฑ์หน้าไม้ ของ้าว ง้าว ตะบอง ขวาน เป็นต้น อาวุธดังกล่าวนี้ทุกคนจะมีอยู่ประจำตัวตามความถนัดของแต่ละคนและมีการฝึกใช้อาวุธนั้น ๆ  อย่างช่ำชองดีแล้วตั้งแต่ในยามปกติ เป็นอาวุธคู่มือเมื่อเกิดศึกสงครามก็จะใช้อาวุธคู่มือนี้เข้าทำการรบ
            เสบียงอาหารจะมีการนำติดตัวไปจำนวนหนึ่งไว้ใช้เมื่อจำเป็นในขั้นแรกโดยธรรมดาจะแสวงหาอาหารในท้องถิ่นกิน ส่วนเสบียงอาหารสำหรับกองทัพจะส่งไปจากราชธานีและหัวเมืองใหญ่ส่วนหนึ่งกับเรียกเกณฑ์ให้ผู้ปกครองท้องถิ่นเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า  แล้วคอยจ่ายให้เมื่อกองทัพเดินทางมาถึง
            ด้านยานพาหนะอันประกอบด้วย  ช้าง ม้า วัวและเกวียน ใช้เป็นส่วนกำลังรบ และส่วนสนับสนุน การรบ กล่าวคือ
            ช้าง  ใช้เป็นพาหนะของแม่ทัพเข้าต่อสู้กับแม่ทัพฝ่ายข้าศึก ที่เรียกว่าทำยุทธหัตถีใช้เป็นกำลังเข้าบุกตลุยข้าศึกในสนามรบและใช้ในการลำเลียงในถิ่นทุรกันดารที่เป็นพื้นที่ป่าเขา
            ม้า  ใช้เป็นพาหนะของผู้บังคับบัญชาทหารในระดับรองลงมาใช้เป็นพาหนะของหน่วยทหารม้าที่ต้องการเคลื่อนที่เร็ว ใช้ในการลาดตระเวณหาข่าวการติดต่อสื่อสาร
            วัว  ใช้เทียมเกวียนบรรทุกสัมภาระต่าง ๆ ทุกประเภทโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสบียงอาหาร
            ผลประโยชน์ที่ทหารได้รับ
            การป้องกันบ้านเมือง  เพื่อมิให้ตกเป็นทาสของฝ่ายข้าศึกก็เป็นการป้องกันตนและครอบครัวไม่ให้ตกอยู่ในฐานะดังกล่าว  นอกจากนี้เมื่อได้ชัยชนะต่อข้าศึกก็จะได้รับส่วนแบ่งจากทรัพย์สมบัติของข้าศึกที่ยึดมาได้ ได้เชลยมาใช้สอย  เพราะทหารที่ไปรบไม่มีเบี้ยเลี้ยง เงินเดือน เป็นรายได้ประจำแต่จะมีเกณฑ์การได้บำเหน็จความชอบในรูปแบบต่าง ๆ ในมังรายศาสตร์มีกำหนดไว้ตอนหนึ่งว่า
            "นายตีนผู้ใดรบศึกในสนามรบ ได้หัวนายช้าง นายม้ามา  ควรเลี้ยงดูให้เป็นใหญ่.....ผู้ใดรบชนะ ได้หัวข้าศึกมาให้รางวัลหัวละ 300 เงินให้ไร่นา ที่ดินและเลี้ยงดูให้เป็นใหญ่  หากนายตีนได้หัวนายม้า ควรเลื่อนขึ้นเป็นนายม้า นายตีนได้หัวนายช้าง ควรเลื่อนขึ้นเป็นนายช้าง ให้มีฉัตรกั้น ให้ภริยาเครื่องทอง ทั้งทอง ปลายแขน เสื้อผ้าอย่างดี...."

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น