ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เศรษฐกิจคนไทยโดยส่วนรวมอยู่ในสภาพที่พออยู่กันได้ แม้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 และ 2 จะเก็บภาษีได้ไม่พอกับการจ่ายเบี้ยหวัดเงินปีแก่ขุนนางข้าราชการก็ตาม แต่ทางราชการก็ได้นำเงินกำไรจากการค้าสำเภากับต่างประเทศมาใช้จ่ายเพิ่มเติมซึ่งพอแก้ไขปัญหาในแต่ละปีได้
ในสมัยรัชกาลที่ 3 รายจ่ายของประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงต้องหาวิธีเพิ่มรายได้แก่ประเทศทั้งในด้านการค้าสำเภากับต่างประเทศ และการใช้วิธีประมูลผูกขาดการเก็บภาษีอากรจนต้องเพิ่มภาษีใหม่ถึง 38 ชนิด จึงทำให้ประเทศมีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย
สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีลักษณะดังต่อไปนี้
1. ผลผลิตทางการเกษตร
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของไทยได้แก่ ข้าว อ้อย และพริกไทย
■ข้าวเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในลำดับที่ 5 ของสินค้าที่ส่งออกมากตามลำดับ อันได้แก่ น้ำตาล ฝ้าย ไม้หอมและดีบุก ข้าวถือได้ว่าเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่ส่งเป็นสินค้าออกของไทย แต่ปริมาณการส่งออกไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาวะตามธรรมชาติภายในประเทศและความต้องการของตลาดต่างประเทศ
■ น้ำตาล เรื่องการผลิตน้ำตาลจากอ้อยนั้น ไทยสามารถผลิตน้ำตาลจากอ้อยได้ ตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ 2 แล้ว แต่ต่อมาชาวจีนได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ปลูกอ้อยทำน้ำตาลได้ จึงได้มีการส่งสินค้าประเภทนี้ออกไปจำหน่ายนอกประเทศ อุตสาหกรรมประเภทนี้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
■พริกไทย มีการส่งออกพริกไทยไปยังประเทศจีนประมาณปีละ 60,000 หาบ ซึ่งในขณะนั้นพริกไทยเป็นที่ต้องการของพ่อค้าต่างชาติมาก
2. ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ทำรายได้ให้กับแผ่นดินในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ ไม้ แร่ธาตุและสินค้าประเภทเหล็ก ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1.ไม้สัก มีมากบริเวณเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน ในสมัยรัชกาลที่ 3 พ่อค้าชาวจีน ซึ่งเป็นผู้ประมูลผูกขาดจากป่าไม้จากเจ้าเมืองฝ่ายเหนือ นอกจากคนจีนแล้ว ทางราชการก็เป็นผู้ดำเนินการโค่นไม้สักเอง เพื่อนำไปใช้ในราชการต่อเรือและส่งไปขายที่เมืองจีนและอินเดีย
2.ไม้ฝาง ใช้ทำสีย้อมผ้า และไม้กฤษณาซึ่งเป็นไม้หอม เป็นที่ต้องการของชาวตะวันตกกลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญอย่างหนึ่ง
3.ดีบุก เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์และกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะที่ภูเก็ตได้กลายเป็นแหล่งผลิตดีบุกมากที่สุด แร่ดีบุกเป็นสินค้าผูกขาดที่ต้องนำมาขายให้กับพระคลังสินค้าเท่านั้น โดยเจ้าเมืองจะเป็นผู้ซื้อดีบุกจากราษฏร แล้วนำไปขายต่อให้พ่อค้าต่างชาติอีกต่อหนึ่ง
ในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 แร่ดีบุกเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดในยุโรป เพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ค้นพบว่าการเอาดีบุกไปเคลือบเหล็กจะทำให้เหล็กไม่เกิดสนิม จึงทำให้ตลาดโลกต้องการมาก ดังนั้นการขุดแร่ดีบุกตามหัวเมืองชายทะเล หัวเมืองมลายู และหัวเมืองปักษ์ใต้จึงเพิ่มปริมาณมากขึ้น
นอกจากดีบุกแล้ว ยังมีเหล็ก ทองแดง ตะกั่ว ทองคำซึ่งมีอยู่ทั่วไป แร่ดิบส่วนใหญ่ได้รับการถลุงขั้นแรกที่บริเวณแหล่งแร่ ต่อจากนั้นจะถูกขนส่งมายังกรุงเทพ ซึ่งมีโรงงานผลิตเครื่องครัวและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ สินค้าประเภทเหล็กจึงเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญและมีค่าที่สุดอย่างหนึ่งของไทย
3. การจัดเก็บภาษีอากร
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-2 การจัดเก็บภาษีอากรยังคงมีลักษณะเหมือนกับสมัยอยุธยา ภาษีอากรที่เรียกเก็บในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้แก่ อากรสุรา อากรบ่อนเบี้ย อากรขนอนตลาด อากรค่าน้ำเก็บตามเครื่องมือ อากรสมพัตสร (อากรพืชล้มลุก) อากรค่านา อากรสวน และส่วย ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 2 ประเภทของภาษีอากรประกอบด้วย จังกอบ อากร ส่วย ฤชา
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการแก้ไขการเก็บภาษีใหม่ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มพูนมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้เพราะในสมัยนี้มีศึกสงครามกับข้าศึกภายนอกมาก ดังนั้นรัชกาลที่ 3 จึงได้ทรงตั้งภาษีอากรใหม่ถึง 38 ชนิด เช่น อากรบ่อนเบี้ยจีน อากรหวย ภาษีเบ็ดเสร็จลงสำเภา ภาษีพริกไทย ภาษีไม้ฝาง ภาษีไม้แดง ภาษีเกลือ ภาษีน้ำมันมะพร้าว ภาษีน้ำมันต่างๆ ภาษีต้นยาง ภาษีใบจาก เป็นต้น
ีการเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นหลายชนิด เพื่อให้การเก็บภาษีได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงได้ใช้วิธีการผูกขาดการเก็บภาษีอากร ซึ่งเป็นวิธีการเก็บภาษีในลักษณะที่มีผู้เสนอรับทำภาษีสิ่งของบางอย่าง ดังนั้นผู้ใดสามารถประมูลได้ (ผู้ที่สัญญาจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนต่อรัฐสูง) ก็เป็นผู้ได้รับสิทธิผูกขาดจัดเก็บภาษีสิ่งของนั้นๆ ผู้ประมูลได้เรียกว่า “เจ้าภาษีนายอากร” โดยรัฐบาลจะมอบอำนาจสิทธิขาดในการจัดเก็บอากรให้ไปดำเนินการเอง และเมื่อถึงกำหนดเวลาจะต้องนำเงินภาษีอากรที่ได้มาส่งให้ครบตามที่ประมูลไป
4. สภาพการค้าขาย
การค้าภายในประเทศ การค้าขายยังจัดอยู่ในขอบเขตจำกัด เพราะเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นแบบเลี้ยงตนเอง บรรดาพืชผลต่างๆ ซึ่งผลิตได้ส่วนมากจะใช้บริโภคในครัวเรือน ส่วนที่เหลือจากการบริโภคและอุปโภคแล้ว จึงจะนำมาแลกเปลี่ยนกันภายในตลาดท้องถิ่นนั้นๆ
■การค้าขายภายในประเทศส่วนใหญ่มักจะดำเนินไปตามริมแม่น้ำลำคลอง ระบบเงินตรายังใช้เบี้ยเป็นสื่อในการซื้อขาย แต่ระบบเงินตรายังไม่ได้มาตรฐานทั่วไป คนส่วนมากนิยมการแลกเปลี่ยนกันในรูปสินค้ามากกว่า
การค้าภายในประเทศเริ่มขยายตัว เพิ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยที่ชาวจีนได้เข้ามามีบทบาททางการค้ามากขึ้น ชาวจีนจะเป็นคนกลางนำสินค้าจากท้องที่หนึ่งไปขายยังอีกท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ ห่างไกล
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายหลังที่รัฐบาลได้ทำการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น รัฐบาลจะผูกขาดการค้าทั้งภายในและต่างประเทศแต่เพียงผู้เดียว ราษฏรต้องขายผลผลิตให้กับพระคลังสินค้า โดยรัฐจะเป็นผู้ควบคุมปริมาณและราคาสินค้าได้ โดยเฉพาะสินค้าที่มีราคาและเป็นที่ต้องการของพ่อค้าต่างชาติ ราษฏรต้องนำไปขายให้กับพระคลังสินค้าเท่านั้น จะขายให้ผู้ใดโดยตรงมิได้
■การค้ากับต่างประเทศ ระบบการผูกขาดการค้าโดยพระคลังสินค้า ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การค้าขายกับต่างประเทศดำเนินไปตามวิธีการผูกขาดการค้าโดยพระคลังสินค้า เสนาบดีกรมท่าจะมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการค้ากับต่างประเทศเหมือนสมัยอยุธยา
พระคลังสินค้าจะดำเนินนโยบายการค้าในรูปแบบการค้าผูกขาดของหลวง โดยพระคลังสินค้าจะออกประกาศบังคับว่า สินค้าบางอย่างให้ราษฏรนำมาขายให้กับพระคลังสินค้าเท่านั้น เมื่อเรือสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาเทียบท่า ทางเจ้าหน้าที่ของไทยจะไปตรวจเลือกซื้อสิ่งของที่ต้องการก่อน เมื่อรัฐบาลได้สิ่งของที่ต้องการเพียงพอแล้ว จึงยอมให้จำหน่ายแก่คนทั่วไป แต่ถ้าเป็นสินค้าประเภทอาวุธยุทธภัณฑ์ ซึ่งเป็นของจำเป็นต้องใช้ในราชการ เมื่อมีพ่อค้านำเข้ามา ไทยจะบังคับซื้อจากพ่อค้าในราคาต่ำกว่าปกติ
บรรดาสินค้าต่างๆ ที่มีราคาทั้งหลาย เช่น ฝาง ดีบุก ลูกกระวาน ตะกั่ว รง นอแรด งาช้าง พริกไทย กฤษณา เป็นต้น รัฐจะขึ้นบัญชีเป็นสินค้าของหลวง ผู้ใดมีไว้ในครอบครองจะต้องนำมาถวายพระเจ้าแผ่นดินตามราคาที่กำหนดไว้ ส่วนสินค้าต้องห้ามที่ชาวต่างประเทศนำเข้ามาจะถูกบังคับให้ขายกับพระคลังสินค้า ได้แก่ ปืน และดินปืน สินค้าชนิดอื่นๆ ถ้ารัฐบาลต้องการซื้อก็มีสิทธิซื้อก่อนผู้อื่น
สภาพการค้ากับต่างประเทศ ในตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 2 การค้าขายกับต่างประเทศเริ่มขยายตัวมากขึ้น เพราะพ่อค้าชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาค้าขายกับไทย ในระยะนี้มีเรือสินค้าของไทยและต่างชาติผ่านไปมาค้าขายมากถึง 241 ลำ
ต่อมาในปลาย พ.ศ.2368 อังกฤษได้ส่ง เฮนรี่ เบอร์นี่ เข้ามาติดต่อทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าขายกับไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 ไทยจึงได้ทำสัญญากับอังกฤษ ใน พ.ศ.2369 ในสัญญาฉบับนี้มีข้อความระบุว่า “พวกพ่อค้าต้องเสียภาษีการค้าขายตามประเพณีของสถานที่ แล้วจึงจะได้รับอนุญาตให้ซื้อและขายโดยไม่ได้รับการแทรกแซงจากผู้อื่น” บรรดาพ่อค้าต้องปฏิบัติตามกฏหมายไทย ห้ามนำข้าวเปลือก ข้าวสารออกนอกราชอาณาจักร ปืนและกระสุนที่นำเข้ามา จะต้องไม่ขายให้ผู้อื่นนอกจากรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่ต้องการสินค้าเหล่านี้ พ่อค้าจะต้องนำกลับออกไป ส่วนสินค้าอื่นอนุญาตให้ซื้อขายได้
ทางด้านการส่งสินค้าออกไปขายยัง ต่างประเทศนั้น จำนวนสินค้าที่สงออกมีหลายชนิด แต่ที่สำคัญได้แก่ น้ำตาล พริกไทย ข้าว และดีบุก ในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังจากการทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้ากับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาแล้ว พ่อค้าต่างประเทศเริ่มเข้ามาค้าขายในกรุงเทพมากขึ้น ทำให้สินค้าออกของไทยเป็นที่ต้องการของพ่อค้าชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก
ทางด้านการสั่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาใช้ในพระราชอาณาจักรนั้น ส่วนมากเป็นผ้าไหมจากจีน ผ้าเนื้อธรรมดาจากอินเดียและแถบมะละกา เครื่องลายคราม ชา ไหมดิบ ไหมสำเร็จรูป ฝ้ายชนิดต่างๆ ฝิ่นดิบ ทองแท่งและเงินแท่ง นอกจากนี้ยังเป็นประเภทอาวุธปืน เครื่องแก้ว และสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยอีกหลายรายการ
กล่าวโดยสรุป สภาพเศรษฐกิจของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เริ่มขยายตัวและเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 2 จนกระทั่งมาถึงรัชกาลที่ 3 เพราะระบบการค้าแบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้า และการเข้ามาติดต่อค้าขายของชาวตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายหลังจากการทำสนธิสัญญาเบอร์นี่ระหว่างไทยกับอังกฤษ และติดตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา สำหรับการค้าขายกับจีนนั้น ยังคงดำเนินไปตามปกติ และยังคงเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทยเป็นอย่างมากด้วย
สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในสมัยรัชกาลที่ 4
โรงกระษาปน์สิทธิการใน พ.ศ. 2405 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โรงกระษาปน์ผลิตเหรียญดีบุก เพื่อเป็นเครื่องแลกใช้แทนเบี้ยหอย และประกาศให้ใช้กะแปะอัฐ และโสฬสที่ทำขึ้นใหม่นี้ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2405 เหรียญดีบุกนี้ทำด้วยดีบุกดำผสมทองแดง ด้านหนึ่งมีตราช้างในวงจักร อีกด้านหนึ่งมีรูปพระมหามงกุฎกับฉัตร เหรียญดีบุกขนาดใหญ่เรียกว่า “อัฐ” มีราคา 8 อันต่อหนึ่งเฟื้อง สำหรับขนาดเล็กเรียกว่า “โสฬส” มีราคา 16 อันต่อหนึ่งเฟื้อง
เงินกระดาษหรือหมายเงินกระดาษหรือธนบัตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น
สภาพเศรษฐกิจยุคปรับตัวเข้าสู่ความทันสมัยตามแบบตะวันตก (พ.ศ.2394-2475)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยได้ตกลงทำสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษในปี 2398เป็นสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งด้านบวกและด้านลบอย่างมากมาย ดังนี้
1. สาระสำคัญของสนธิสัญญาเบาริง
■อังกฤษมีสิทธิตั้งกงสุลคอยดูแลผลประโยชน์และตั้งศาลกงสุลเพื่อชำระความคนในบังคับของอังกฤษ
■ให้สิทธิการค้าเสรีแก่คนในบังคับอังกฤษทั่วทุกเมืองท่าของไทย และอาจจะเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยได้ภายในเขต ไมล์จากกำแพงเมือง ถ้าเข้ามาอยู่ในเมืองไทยครบ 10 ปี
■ยกเลิกการเก็บค่าระวางปากเรือ แต่กำหนดภาษีขาเข้าตามราคาสินค้าในอัตราร้อยละชัก 3 ส่วนภาษีขาออกให้เก็บเพียงครั้งเดียว
ไม่เก็บภาษีฝิ่น แต่ต้องนำมาขายให้แก่เจ้าภาษีเท่านั้น และถ้าเจ้าภาษีไม่ซื้อต้องนำออกไป
■รัฐบาลไทยมีสิทธิห้ามส่งข้าว เกลือ และปลาออกนอกประเทศได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องแจ้งให้กงสุลทราบข่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 1 เดือน
ถ้าไทยทำสนธิสัญญายกประโยชน์ให้ชาติหนึ่งชาติใดในวันข้างหน้า ซึ่งนอกเหนือจากที่อังกฤษได้รับในครั้งนี้ อังกฤษจะต้องได้รับในครั้งต่อๆ ไปด้วย
เมื่อสัญญาพ้นกำหนด 10 ปีแล้ว ฝ่ายไทย ฝ่ายอังกฤษ จะขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาได้ โดยบอกให้คู่สัญญารู้ล่วงหน้า 1 ปี
ภายหลังจากที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษใน พ.ศ.2398 ก็ได้มีประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันตกของโลก ส่งผู้แทนเข้ามาเจรจาเพื่อทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้ากับไทย โดยยึดแบบอย่างที่ไทยได้ทำกับอังกฤษ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงต้อนรับ และทรงยินดีที่จะติดต่อมีความสัมพันธ์ทางการฑูตและการค้ากับประเทศเหล่านั้น เป็นอย่างดี โดยทรงใช้ในสนธิสัญญาเบาริงเป็นแบบฉบับในการทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและ การค้ากับประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมา ได้มีการทำสัญญากับฝรั่งเศสในปี.2399 สหรัฐอเมริกาในปี 2399 เดนมาร์กในปี 2401 โปรตุเกส ในปี 2402 ฮอลันดาในปี 2403ปรัสเซียปี 2405 สวีเดน และนอร์เวย์ในปี .2411 ตามลำดับ
2. สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจหลังเกิดสนธิสัญญาเบาริง ผล จากการทำสนธิสัญญาเบาริง ทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในหลายด้าน ดังต่อไปนี้
■ทำให้ไทยได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง
■ก่อให้เกิดระบบการค้าเสรี และมีการเลิกการค้าแบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้าในที่สุด ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งเสริมการค้าของไทยให้ขยายตัวออกไป
■เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโครงสร้างสินค้าออกและสินค้าเข้า กล่าวคือ สินค้าเข้าแต่เดิมประกอบด้วยสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อการบริโภคของชนชั้นสูง ได้เปลี่ยนมาเป็นสินค้าหลายชนิดเพื่อการบริโภคของคนทั่วไป เช่น ผ้านุ่ง ผ้าฝ้าย เครื่องแก้ว ใบชา กระจก เป็นต้น ส่วนสินค้าออกในสมัยก่อน จะเป็นสินค้าหลายๆ ชนิด ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นสินค้าเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ข้าว ไม้สัก ดีบุก เป็นต้น
■การส่งออกข้าวได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง เพราะระบบการค้าที่เปลี่ยนไป และความต้องการของตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นด้วย หลัง พ.ศ.2398 เป็นต้นมา ชาวนาได้ขยายการผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้น ทำให้การปลูกพืชชนิดอื่นที่เลี้ยงตัวเองได้ เช่น อ้อย ฝ้าย และพืชที่จำเป็นในการครองชีพอื่นๆ ลดน้อยลง ผลผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนก็ลดลง จนบางครั้งถึงกับเลิกผลิต เพราะแรงงานส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการผลิตข้าวแทน
■ผลจากการขยายตัวในการผลิตข้าว ทำให้ชาวนาต้องขยายที่นาออกไปมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานเพิ่มขึ้นในการทำนา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความจำเป็น จึงทรงสนับสนุนด้วยการลดหย่อนการเกณฑ์แรงงานตามระบบไพร่ลง เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้เวลาในการทำนามากขึ้น ส่วนงานก่อสร้างของหลวงที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากก็โปรดฯ ให้จ้างคนจีนมาทำการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้คนไทยมีอิสระที่จะประกอบอาชีพของตนมากกว่าแตก่อน เพราะไม่ต้องกังวลกับการถูกเกณฑ์แรงงาน โดยอาจจะใช้วิธีจ่ายเงิน “ค่าราชการ” แทนการเกณฑ์แรงงานได้
■การผลิตเงินตราโดยเครื่องจักร ภาย หลังการทำสนธิสัญญาเบาริงแล้ว ได้มีการค้าขายกันอย่างกว้างขวางโดยใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ด้วยเหตุนี้ระบบเงินตราจึงได้เริ่มมีบทบาทสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทย จากการที่การค้าได้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง ทำให้เงินตราที่ใช้หมุนเวียนภายในประเทศมีจำนวนไม่เพียงพอ เป็นผลให้พระคลังมหาสมบัติผลิตเงินได้ไม่ทันกับความต้องการ รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกษาปณ์ขึ้น ในปี 2403 และสั่งซื้อเครื่องจักรสำหรับผลิตเงินเหรียญกษาปณ์เพื่อใช้แทนเงินพดด้วย เดิมซึ่งผลิตด้วยมือ
■ การส่งเสริมการทำนาของชาวนา ทางด้านการส่งเสริมการทำนาและการผลิตข้าวของชาวนานั้น รัชกาลที่ 4ได้ทรงยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินทำนา ซึ่งชาวนาได้บุกเบิกใหม่ในปี 2400 พระองค์ทรงประกาศว่า “จะไม่เก็บภาษีที่ดินบุกเบิกเพื่อใช้ทำนาปีแรก” และในอีก 2-3 ปีต่อมาจะเก็บภาษีแต่เพียงอย่างต่ำ นอกจากนี้ยังทรงส่งเสริมให้ขาวนาขยายเนื้อที่ทำนาให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งได้มีการลดหย่อนการเกณฑ์คนทำงานหลวงอันเป็นประเพณีดั้งเดิมลง งดเว้นการเกณฑ์แรงงานในฤดูทำนา เพื่อให้ราษฏรมีเวลาที่ใช้ประกอบอาชีพทำนามากขึ้น
■ การปรับปรุงภาษีอากร การ ทำสนธิสัญญาเบาริงเป็นความสำเร็จที่นำไปสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่เกี่ยวกับกลไก การบริหารด้านการคลัง ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระบบภาษีอากรทั้งมวล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งภาษีอากรขึ้นมาใหม่ ได้แก่ ภาษีสุกร ภาษีปลาสด ภาษีปลาทู ภาษีไหม ภาษีขี้ผึ้ง อากรมหรสพ ภาษีผัก ภาษีฝิ่น เป็นต้น
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแก้ไขระบบการเก็บภาษีอากรบางอย่าง เพื่อให้เป็นไปตามความเหมาะสม คือ ลดอัตราการเก็บเงินอากรบางประเภท นอกจากนี้ ก็ยกเลิกและเปลี่ยนภาษีอากรบางอย่างที่ทำให้ราษฏรเดือดร้อน เช่น ให้ยกเลิกภาษีเกวียน ภาษีเรือจ้าง และภาษีผัก ยกเลิกการประมูลภาษีพลู ยกเลิกภาษีผลมะพร้าว แต่ให้เก็บภาษีน้ำมันมะพร้าวแทน เป็นต้น
สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจสมัยรัชกาลที่ 5
การประปา
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยเริ่มต้นพัฒนาทางเศรษฐกิจขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพราะเป็นผลมาจากการติดต่อกับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง โดยปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันให้มีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ มีดังต่อไปนี้
1.การปรับตัวเข้าสู่ความทันสมัยตามแบบตะวันตก เพื่อให้รอดพ้นจากการคุกคามของชาติมหาอำนาจตะวันตกนั้น จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนเป็นจำนวนมหาศาล มิฉะนั้นการปฏิรูปจะดำเนินต่อไปไม่ได้ ดังนั้นการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อให้รัฐมีรายได้เพียงพอต่อการปฏิรูปแผ่นดิน ครั้งใหญ่จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
2.ปัญหาการคลังที่ล้าสมัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประสบอยู่ในขณะเสด็จขึ้นครองราชย์ จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว เพราะไม่สนองตอบต่อนโยบายปฏิรูปแผ่นดินในทุกๆ ด้าน เพราะรัฐมีรายได้ไม่เพียงพอ เนื่องจากระบบการคลังขาดประสิทธิภาพ รายได้ของรัฐมีทางรั่วไหลมาก ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงปฏิรูปเศรษฐกิจ อย่างเร่งด่วน ดังนี้
2.1 การปฏิรูปการคลัง ระบบการคลังเดิมนั้นไม่สามารถตรวจสอบและควบคุมการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงปฏิรูปการคลังดังต่อไปนี้
* จัดตั้งหอรัษฏากรพิพัฒน์ โดยมุ่งหมายจะให้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมพระราชทรัพย์ ซึ่งขึ้นอยู่ตามท้องพระคลัง จึงเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปทางด้านการคลัง เพราะเป็นการเริ่มต้นรวมงานการเก็บภาษีอากรมาไว้ที่หอรัษฏากรพิพัฒน์ เพื่อให้เก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพของเจ้าพนักงานและเจ้าภาษีนายอากร ตลอดจนวางระบบป้องกันการทุจริตของเจ้าพนักงาน เงินภาษีอากรทั้งหมดจะต้องถูกส่งไปเก็บไว้ในท้องพระคลังทั้งหมด ก่อนที่จะแจกจ่ายให้กรมกองต่างๆ ใช้ในกิจการของตน
* ประกาศใช้ พ.ร.บ.กรมพระคลังมหาสมบัติ ใน พ.ศ.2418 โดยจุดมุ่งหมายเพื่อจัดระเบียบราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยกำหนดวิธีการส่งเงิน รับเงิน ตรวจเงิน และการจัดลำดับตำแหน่งข้าราชการรับผิดชอบงานในระดับต่างๆ ตลอดจนกำหนดระเบียบปฏิบัติของเจ้าภาษีนายอากร และผู้เกี่ยวข้องในการส่งเงินต่อพระคลังมหาสมบัติ
* โปรดให้จัดระเบียบการจัดทำงบประมาณขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของการจัดทำงบประมาณ รายรับและรายจ่ายในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการ ปฏิบัติราชการ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ เพราะแต่เดิมไม่มีการจัดทำงบประมาณรายรับรายจ่ายล่วงหน้า และต่อมาใน พ.ศ.2434 โปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบการจัดทำงบประมาณขึ้น เพื่อเป็นหลักในการจัดสรรเงินให้แก่กระทรวงต่างๆ ให้เป็นสัดส่วนกัน การจัดระเบียบการจัดทำงบประมาณดังกล่าว ทำให้รัฐบาลสามารถจัดพิมพ์งบประมาณรายรับรายจ่ายแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2444
* โปรดให้แยกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการจัดระเบียบการคลังและจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ ได้มีการแยกรายจ่ายส่วนพระองค์ออกจากรายจ่ายของแผ่นดินหรือรายจ่ายเพื่อ สาธารณะ และใน พ.ศ.2441 ได้มีการแยกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินของแผ่นดิน แล้วมอบให้พระคลังข้างที่เป็นฝ่ายบริหารพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ต่อไป
2.2 การปฏิรูประบบเงินตรา เนื่องจากการค้าได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง รัชกาลที่ 5 จึงทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงระบบเงินตราให้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายที่ทันสมัย ดังเช่นที่ประเทศตะวันตกปฏิบัติกันอยู่ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการซื้อขายยิ่งขึ้น โดยมีการปฏิรูปเงินตราดังนี้
■พ.ศ.2422 โปรดเกล้าฯให้สร้างหน่วยเงินที่เรียกว่า “สตางค์” ขึ้นใช้ โดยกำหนดให้ 100 สตางค์ เป็น 1 บาท พร้อมทั้งผลิตเหรียญสตางค์ขึ้น 4 ราคา คือ 20 สตางค์ 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ 2 1/2 สตางค์ ใช้ปนกับเงินซีก เสี้ยว อัฐ ต่อมาในปลายรัชกาล โปรดให้ยกเลิกเงินเฟื้อง ซีก เสี้ยว อัฐ และโสฬส ซึ่งเป็นเงินตราแบบเดิม
■พ.ศ.2445 โปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติธนบัตร ร.ศ.121 และจัดตั้งกรมธนบัตรขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการออกธนบัตรให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น
■ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรม หมื่นมหิศรราชหฤทัย ทรงดำริที่จะจัดตั้งธนาคารของคนไทยเพื่อสนับสนุนการค้าและเศรษฐกิจของคนไทย ให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับชาวต่างประเทศ จึงได้ทรงเริ่มต้นด้วยการจัดตั้ง“บุคคลัภย์” (ฺBook Club) ขึ้นก่อน เมื่อ วันที่ 4 ตุลาคม 2447 และทดลองดำเนินกิจการภายในประเทศเท่านั้น ต่อมาเมื่อกิจการดำเนินไปด้วยดี และได้รับความเชื่อถือจากประชาชน จึงได้เปลี่ยนจาก “บุคคลัภย์”มาเป็นแบงค์ ใช้ชื่อว่า แบงก์สยามกัมมาจล มีนโยบายเช่นเดียวกับธนาคารต่างประเทศ นับเป็นธนาคารแห่งแรกของประเทศที่ตั้งขึ้นมาด้วยเงินทุนของคนไทย ต่อมาธนาคารนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด”ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน
2.3 การส่งเสริมการเกษตรและการผลิตเพื่อการส่งออก ภายหลังที่ประเทศไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษและชาติตะวันตกอื่นๆ นับตั้งแต่ พ.ศ.2398 เป็นต้นมา ทำให้การผลิตทางการเกษตรซึ่งเคยผลิตเพื่อการยังชีพ ได้เปลี่ยนมาเป็นการผลิตเพื่อการค้า การเกษตรเริ่มมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจด้านอื่นของประเทศอย่างแยกไม่ออก ด้วยเหตุนี้รัชกาลที่ 5 จีงได้ดำเนินการส่งเสริมการผลิตทางการเกษตร ดังนี้
■ดำเนินการขุดคลอง สร้างทำนบ และประตูน้ำ เพื่อช่วยส่งน้ำให้เข้าถึงพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกข้าวได้ รัฐบาลได้อนุญาตให้บริษัทขุดคลองคูนาสยาม ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเป็นผู้ที่ได้รับสัมปทานขุดคลองทั่วพระราชอาณาจักร มีกำหนด 25 ปี คือ ระหว่าง พ.ศ.2433 ถึง พ.ศ.2458 นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์ช่วยในการทำนา เช่น ใช้เครื่องจักร ใช้แรงไฟสำหรับไถนา นวดข้าว สีขาว และวิดน้ำเข้านา เป็นต้น ในการนี้รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนด้วยการให้รางวัลแก่บริษัทห้างร้านที่ ประดิษฐ์เครื่องจักรที่เหมาะสมกับความต้องการในการทำนา
■ในตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ส่งเสริมการปลูกฝ้ายอย่างจริงจังให้กับราษฏร โดยจ้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องฝ่ายจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินการจัดตั้งสถานีทดลองและทำไร่ฝ้ายตัวอย่าง ตั้งโรงงานหีบฝ้าย แนะนำพันธ์ฝ้ายที่เหมาะสมกับภูมิประเทศและภูมิอากาศ เป็นต้น
2.4 การปรับปรุงการคมนาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการคมนาคมของประเทศ ซึ่งกำลังอยู่ในยุคปรับตัวเข้าสู่ความทันสมัย จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงการคมนาคมให้เจริญก้าวหน้าทั้งทางบกและทางน้ำ ที่สำคัญได้แก่ การขุดคลอง การสร้างถนน และการสร้างทางรถไฟ
■การขุดคลอง ในสมัยรัชกาลที่ 5 การขุดคลองมุ่งประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดฯ ให้หน่วยราชการและเอกชนขุดคลองขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างกรุงเทพ กับจังหวัดข้างเคียง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ และเป็นเส้นทางลำเลียงข้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น คลองดำเนินสะดวก คลองเปรมประชากร คลองนครเฟื่องเขตร คลองประเวศบุรีรมย์ คลองทวีวัฒนา และคลองนราภิรมย์ นอกจากนั้นพระองค์ ยังโปรดฯ ให้เอกขุดคลอง เพื่อขยายพื้นที่ทำการเพาะปลูกออกไปแถบตำบลบางหลวง บางโพ แขวงเมืองปทุมธานี และบริเวณทุ่งหลวงตามโครงการรังสิตของบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเปิดเนื้อที่ใหม่ๆ เพื่อใช้ในการทำนา
■การสร้างถนน ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นประโยชน์ของการสร้างถนนและสะพานว่า จะทำให้การเดินทางไปไหนมีระยะสั้นลง และจะทำให้เกิดร่มเงาจากต้นไม้สองข้างถนน รวมทั้งทำให้บ้านเมืองงดงามอีกด้วย การสร้างถนนในสมัยนี้เป็นการสร้างตามแบบตะวันตก ภายหลังการสร้างถนนแล้วได้มีบรรดาพ่อค้าและชาวกรุงส่วนหนึ่งหันมาก่อสร้าง รานค้าและบ้านเรือนที่อยู่อาศัยตามริมถนนทำให้ที่ดินริมถนนมีราคาแพง ถนนที่สร้างขึ้นในสมัยนี้เช่น ถนนเยาวราช ถนนจักรวรรดิ ถนนอนุวงศ์ ถนนบูรพา ถนนสามเสน ถนนราชดำเนิน เป็นต้น
■การสร้างทางรถไฟ ในด้านการสร้างทางรถไฟตามแบบตะวันตก มีการสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองในส่วนภูมิภาคทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ แม้ว่าจุดมุ่งหมายในขั้นต้นจะทำเพื่อประโยชน์ทางด้านการปกครองและการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยของพระราชอาณาจักรก็ตาม แต่การสร้างทางรถไฟก็มีผลต่อการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจด้วย เพราะเมื่อมีเส้นทางคมนาคมทางรถไฟใช้แล้ว ปรากฏว่าข้าวและพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ที่ส่งเข้ามาขายยังตลาดในกรุงเทพฯ เพื่อใช้บริโภคภายในประเทศ และเพื่อการส่งออก ต่างมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทางรถไฟที่สร้างขึ้น เช่น ทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา ทางรถไฟสายเหนือ (ภายหลังระงับการก่อนสร้างทางรถไฟสายเหนือเอาไว้ก่อน เพราะประสบปัญหาเรื่องเงินทุน) ทางรถไฟสายใต้ นอกจากนี้ก็มีทางรถไฟสายกรุงเทพ-สมุทรปราการ กรุงเทพ-พระพุทธบาท, กรุงเทพ-มหาชัย-ท่าจีน-แม่กลอง สายบางพระและสายแปดริ้ว เป็นต้น
■ผลของการปฏิรูปเศรษฐกิจในสมัยรัชกาลที่ 5 จากการปฏิรูปเศรษฐกิจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งทางด้านการคลัง ระบบเงินตรา การสร้างเสริมการผลิตทางด้านการเกษตรและการคมนาคมขนส่ง ก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมหลายประการ คือ
■ทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มมากขึ้นจาก พ.ศ.2435-2447 เช่น รายได้เพิ่มจาก 15 ล้านบาท เป็น 46 ล้านบาท โดยมิได้เพิ่มอัตราภาษีและชนิดของภาษีขึ้นแต่ประการใด ทั้งยังมีการยกเลิกภาษีที่ล้าสมัยบางอย่างไปด้วย ทำให้เงินคงคลังของประเทศ ซึ่งเคยมีอยู่ประมาณ 7,500,000 บาท ใน พ.ศ. 2437 เพิ่มขึ้นเป็น32,000,000 บาท ใน พ.ศ.2444
■ก่อให้เกิดความมั่นคงต่อฐานะการคลังของประเทศ และการจัดระบบงบประมาณรับจ่ายเงินที่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
■ก่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยต่อบูรณภาพเขตแดนของพระราชอาณาจักรมากยิ่งขึ้น เพราะการปรับปรุงทางด้านคมนาคม นอกจากจะช่วยอำนวยประโยชน์ในทางเพิ่มรายได้จากการค้าขายและการส่งออกแล้ว ยังช่วยให้ทางรัฐบาลสามารถดูแลพระราชอาณาเขตได้รัดกุมมากยิ่งขึ้น
สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจระหว่าง พ.ศ.2453-2475
รัชกาลที่ 6 ทรงพยายามที่จะปรับปรุงทางด้านเศรษฐกิจให้ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้น จนมีผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยส่วนรวม ปัญหาเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลที่ 7 ถึงแม้ว่ารัชกาลที่ 7 จะพยายามแก้ไขอย่างเต็มพระสติกำลัง แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็มิได้กระเตี้ยงขึ้น จนกลายเป็นเงื่อนไขทีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น